กรุงเทพ--13 ก.ค.--สพช.
5 เดือนต่อจากนี้ไป ณ ที่ดินกว่า 20 ไร่ ริมลำน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีซึ่งถูกเนรมิตให้เป็น "ค่ายเยาวชนอนุรักษ์พลังงาน"จะได้ให้การต้อนรับเยาวชนน้อยใหญ่กว่า 6,000 คน จากโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศที่นี่จะกลายเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ของเยาวชนในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งวิธีการประหยัดพลังงานที่เด็กๆจะได้เรียนรู้ว่าการช่วยกันประหยัดพลังงานนั้น คนรุ่นเยาว์อย่างพวกเขาก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร
ค่ายเยาวชนอนุรักษ์พลังงาน ที่จะจัดขึ้น 58 ครั้ง ครั้งละเกือบ 100 คน จาก 280 โรงเรียน จาก 24 จังหวัดทั่วประเทศเกิดขึ้นจากการเห็นความสำคัญในบทบาทของเยาวชนกับการอนุรักษ์พลังงานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)ที่ต้องการให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์พลังงานการอนุรักษ์พลังงาน และการฝึกปฏิบัติการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เยาวชนที่ผ่านการอบรมเป็นเสมือนนกที่แพร่ขยายพันธุ์ไม้แห่งการอนุรักษ์พลังงานไปสู่เพื่อนที่โรงเรียน และบุคคลในครอบครัวอย่างกว้างขวาง
3 วัน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่าย เยาวชนจะได้สัมผัสกับกิจกรรมที่ให้ความรู้ความสนุกสนานพร้อมด้วยการฝึกปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป โดยมีกระบวนการเรียนรู้ดังนี้
ขั้นแรก เป็นการสร้างความพร้อมและกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีกิจกรรม เช่นเกมขนส่งพลังงาน เป็นการให้ความรู้ในเรื่องของพลังงานที่ใช้ในประเทศไทยเยาวชนจะได้เรียนรู้ว่าพลังงานที่ใช้ในประเทศนั้นส่วนใหญ่ต้องเสียเงินตรานำเข้ามาจากต่างประเทศ และกว่าจะได้มาใช้ก็ยากลำบากและทำลายธรรมชาติอีกด้วยส่วนเกมงูยักษ์ตกบันได ซึ่งขยายขนาดให้เป็นฐานปฏิบัติการบนสนามหญ้าประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับพลังงานช่องละ 1 หัวข้อ รวม 25 หัวข้อเยาวชนจะแข่งกันทอดลูกเต๋าเพื่อเข้าสู่เส้นชัยระหว่างทางจะมีคำถาม-คำตอบเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานให้ค้นหาไปด้วย
ขั้นที่สองเป็นการฝึกปฏิบัติการในการอนุรักษ์พลังงานซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันซึ่งจะเป็นการเข้าฐานปฏิบัติการ 9 ฐาน อันได้แก่ ฐานน้ำมันเป็นการเรียนรู้วิธีการประหยัดน้ำมันซึ่งมีการนำรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์มาให้เยาวชนช่วยกันตรวจสอบว่ามีส่วนไหนบ้างที่สิ้นเปลืองน้ำมัน เช่น ลมยางอ่อน น้ำมันเครื่องเก่าไส้กรองอากาศสกปรก เป็นต้น ฐานน้ำ เป็นการจำลองสถานการณ์การผลิตและการใช้น้ำโดยแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้โดยเยาวชนที่เป็นผู้ผลิตจะต้องไปตักน้ำจากแม่น้ำมาใส่ในแทงค์น้ำอีกกลุ่มหนึ่งก็จะสูบน้ำเพื่อให้เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งได้ใช้น้ำจากฐานนี้เยาวชนก็สามารถเข้าใจถึงกระบวนการผลิตน้ำว่ากว่าจะได้น้ำมาใช้แต่ละลิตรจะต้องยากลำบากมากแค่ไหน
ฐานไฟฟ้า เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าโดยให้เยาวชนเข้าไปตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านว่ามีการใช้สิ้นเปลืองที่จุดไหนบ้าง เช่น ไฟในห้องน้ำไม่ได้ปิด เปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25องศาเซลเซียส เป็นต้น ฐานบ้านเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาบ้านการสร้างบ้านที่มีส่วนในการประหยัดพลังงานในฐานนี้เยาวชนจะได้แสดงบทบาทเป็นสถาปนิกน้อยสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานด้วยฐานโรงเรียน เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานในโรงเรียนซึ่งเยาวชนในฐานะที่เป็นนักเรียนจะสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างไรบ้าง ฐาน 1 A 3 R เป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันมีสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง (A=Avoid) เช่น โฟม กระป๋องควรลดปริมาณการใช้คือของที่ทำจากทรัพยากรที่หายาก (R=Reduce)ควรใช้ของให้คุ้มค่าโดยเลือกสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (R=Reuse) เช่นหนังสือ กระดาษ และควรเลือกสิ่งที่สามารถนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้(R=Recycle) เช่น ขวดแก้ว กระดาษ เป็นต้น
ฐานภาวะเรือนกระจกและฝนกรด ซึ่งเป็นการจำลองภาวะเรือนกระจกเพื่อให้เยาวชนได้สัมผัสถึงสภาวะที่อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์พลังงานในวันนี้ ฐานไล่ล่าหาอาหาร เป็นฐานที่เน้นให้ความรู้ว่ากว่าจะมาเป็นอาหารได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างและสูญเสียอะไรบ้างและฐานสุดท้ายคือ ฐานแคมป์ไฟ-คำมั่นสัญญา เป็นการสรุปกิจกรรมและการแสดงของเยาวชน
ขั้นที่สาม เป็นการฝึกการวางแผนและนำไปปฏิบัติประกอบไปด้วยการวางแผนโครงการและผลิตสื่อเผยแพร่โดยให้เยาวชนแต่ละกลุ่มระดมความคิดและวางแผนการนำวิธีการอนุรักษ์พลังงานไปเผยแพร่ต่อแก่บุคคลรอบข้าง ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วย
สิ้นสุดการอบรม เยาวชนรุ่นก่อนกำลังเดินทางกลับขณะที่รุ่นใหม่กำลังเดินทางเข้าค่าย เสมือนขบวนรถไฟที่มิจบสิ้นด้วยความหวังว่าโลกจะน่าอยู่ขึ้น ด้วยพลังของเยาวชนในวันนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ "รวมพลังหาร 2" สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) 394 / 14 ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทรศัพท์ 280 - 0951-7 , 628 745-53 ต่อ 144, 142 โทรสาร 280 - 5821-จบ--