กรุงเทพ--8 เม.ย.--การประปานครหลวง
การประปานครหลวงย้ำ หน้าร้อนเป็นช่วงเจริญพันธุ์ของหนอนแดงและตัวร้อยขา นักวิชาการพร้อมสร้างความเข้าใจว่าตัวร้อยขาไม่สามารถเข้ามาในระบบประปาและไม่เป็นอันตรายแน่นอน เผยไปตรวจบ้านผู้ใช้น้ำที่พบตัวร้อยขา ปรากฎว่าเป็นไส้เดือนแดงอาศัยอยู่บนพื้นห้องน้ำ
นายเกษมสันต์ ชำนิโรคสานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานการประชาสัมพันธ์ การประปานครหลวงแจ้งว่า ช่วงหน้าร้อนนี้เป็นช่วงเวลาที่ตัวร้อยขาและหนอนแดงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และอาจปะปนกับภาชนะเก็บกักน้ำ ส่งผลให้ประชาชนเห็นว่าสัตว์เหล่านี้ปะปนมากับน้ำประปาได้ ซึ่งการประปานครหลวงได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจไปครั้งหนึ่งแล้ว ในเรื่องนี้ รศ.บพิธ จารุพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตัวร้อยขาเป็นสัตว์น้ำที่อยู่ในทะเลและสามารถเข้ามาอยู่ในน้ำจืดได้ ลำตัวกว้างประมาณ 0.25-0.5 ซม. ยาวประมาณ 5-10 ซม. มีช่วงระยะเวลาผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม และมักพบบ่อยเวลาฝนตก เนื่องจากตัวร้อยขาจะคืบคลานไปซ่อนตัวในบริเวณที่ชื้นแฉะและที่มืด ซึ่งบ้านที่มีท่อน้ำทิ้งจากห้องน้ำติดต่อกับท่อระบายน้ำ เมื่อน้ำท่วมท่อระบายน้ำ จะทำให้ตัวร้อยขาเข้ามาตามเส้นท่อระบายน้ำของห้องน้ำ และซุกซ่อนอยู่ตามขอบอ่างหรือถังสำหรับรองน้ำ หรือบริเวณที่ชื้นแฉะของห้องน้ำได้ และสำหรับน้ำประปาซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและละเอียด ทั้งจากการตกตะกอน การฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน และภายในท่อส่งน้ำก็ยังมีแรงดันน้ำที่สูงมาก ไม่มีออกซิเจน แม้กระทั่งมิเตอร์ของแต่ละบ้านก็จะมีแผ่นตะแกรงถี่ ๆ กรองไว้อีกชั้นหนึ่ง จึงมั่นใจได้ว่าหนอนแดง และตัวร้อยขาไม่สามารถเข้ามาในระบบประปาได้แน่นอน แม้ว่าจะตัวเล็กกว่าตัวร้อยขาก็ยังผ่านเข้ามาไม่ได้ และจากการทดลองใช้คลอรีนที่มีความเข้มข้น 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรกับตัวร้อยขา ขนาด 6 ซม. ในสภาพที่ไม่มีแรงดันน้ำ พบว่าตัวร้อยขาจะตายภายในครึ่งชั่วโมง ส่วนอันตรายของตัวร้อยขานั้น รศ.บพิธ กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าตัวร้อยขามีพิษหรืออันตรายแต่อย่างใด และไม่ทำให้เกิดความระคายเคืองแก่ผู้จับ เมื่อตายไปจะย่อยสลายได้เร็วกว่าไส้เดือน เพียงแค่ผิวแห้งก็จะตายเพราะหายใจไม่ได้ จึงไม่มีอันตรายต่อมนุษย์
และเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา (วานนี้) มีผู้ร้องเรียนว่าพบตัวร้อยขา ที่บ้านเลขที่ 24/2 ซอยพหลโยธิน 2 แขวงสามเสนใน กทม. โดยพบว่าตัวร้อยขาไหลออกมาจากฝักบัวกว่า 10 ตัว ซึ่งเรื่องนี้ นายเกษมสันต์ ชำนิโรคสานต์ ผอ.สำนักงานการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วย นายณรงค์ ใช้เทียมวงศ์ ผอ.ฝ่ายวางแผนการผลิตและควบคุมคุณภาพ และนายพิทักษ์ กิติคุณไพโรจน์ ผอ.กองบริการ สำนักงานประปาสาขาพญาไท เจ้าของพื้นที่ให้เข้าตรวจสอบบริเวณดังกล่าวแล้วในวันเดียวกัน พบว่าสัตว์ที่พบไม่ใช่ตัวร้อยขาแต่เป็นไส้เดือนแดง ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรอยแตกของพื้นโมเสกในห้องน้ำ เมื่อเปิดฝักบัวแล้วน้ำลงมากระทบพื้นจึงทำให้ไส้เดือนแดงเหล่านี้หลุดออกมาจากพื้น และจากการไปตรวจสอบในจุดอื่น ๆ ภายในบ้าน เมื่อเปิดก๊อกก็ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่ประการใด ปริมาณคลอรีนที่วัดได้ ประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการประปานครหลวง และองค์การอนามัยโลก (WHO) และมั่นใจได้เลยว่าสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำประปาซึ่งมีคลอรีนและแรงกดดันน้ำที่สูงได้ ส่วนวิธีการป้องกันสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก สำหรับผู้ใช้น้ำที่มีภาชนะเก็บน้ำก็ควรมีฝาปิดให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงไปวางไข่และเจริญพันธุ์เป็นตัวหนอนแดง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใช้น้ำที่ใช้สายยางก็ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้วางระเกะระกะกับพื้นดินและที่ชื้นแฉะซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวร้อยขา ทำให้สัตว์ดังกล่าวเข้ามาในสายยางและออกมาพร้อมน้ำประปาได้ นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการสูบน้ำจากเส้นท่อโดยตรง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบการใช้น้ำประปาของการประปานครหลวง เพราะนอกจากจะทำให้เพื่อนบ้านได้รับความเดือดร้อนทำให้น้ำไม่ไหลแล้ว สำหรับผู้ใช้เครื่องสูบน้ำเองก็จะได้น้ำที่ไม่สะอาดในกรณีที่บริเวณใกล้เคียงมีท่อแตกรั่ว บ้านที่สูบน้ำจากเส้นท่อโดยตรงจะรับน้ำที่มีการปนเปื้อนของสิ่งต่าง ๆ ภายนอกเส้นท่อได้ รวมไปถึงหนอนแดงและตัวร้อยขาด้วย--จบ--