กรุงเทพ--30 เม.ย.--ปรส.
นายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาผ่านร่างแก้ไขพระราชกำหนดการปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ ซึ่ง พ.ร.ก. ฉบับเดิมมีข้อจำกัดและช่องว่างบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในการจัดการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกระงับกิจการ 56 ราย และชำระบัญชี ประกอบกับยังไม่มีการระบุในที่ใดอย่างชัดเจนว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และได้รับประกันผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ให้แก่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ จะสามารถขอรับชำระหนี้ได้ตามกฏหมายล้มละลาย
นายอมเรศกล่าวว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดดังกล่าว จะมีผลต่อความคุ้มครองผลประโยชน์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ, ปรส. ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานให้ปรส. และเพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาประมูลทรัพย์สินเกิดความมั่นใจ ทั้งนี้มีประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมดังนี้
1. เพิ่มอำนาาจให้ปรส. สามารถทำการชำระบัญชีสถาบันการเงินได้ 56 รายได้
2. ห้ามบุคคลใดฟ้องล้มละลายสถาบันการเงิน 56 รายระหว่างที่ ปรส. ทำการขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชี เว้นแต่ ปรส. หรือผู้ชำระบัญชีที่ปรส.แต่งตั้ง เนื่องจากหากมีผู้ใดฟ้องล้มละลายสถาบันการเงินดังกล่าวจะทำให้กระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินของปรส.หยุดชะงัก ซึ่งผลจากการฟ้องล้มละลายในที่สุดแล้วก็นำมาสู่การขายทรัพย์สินและชำระบัญชีที่ปรส.กำลังดำเนินการอยู่นั่นเอง
3. ขยายกรอบการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 56 ราย จากเดิมให้เปิดประมูลโดยเปิดเผย หรือแข่งขันราคาตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดเท่านั้น เป็น ให้ขายในตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์การซื้อขายหลักทรัพย์ ได้สำหรับกรณีของหลักทรัพย์ที่มีตลาดรองรับ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจำหน่าย และให้ขายวิธีอื่นได้สำหรับทรัพย์สินที่เมือขายโดยวิธีประมูลหรือแข่งขันราคาแล้วเกิดค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับการจัดการ
4. คุ้มครองผู้เข้ามาประมูลทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 56 ราย โดยสุจริต ว่าจะได้รับทรัพย์สินที่ซื้อได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาประมูลซื้อทรัพย์สินดังกล่าว
5. อนุญาตให้ผู้ซื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยจากทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 56 ราย ในอัตราที่ไม่เกินกว่าที่มีการเรียกเก็บไว้เดิม ซึ่งอาจจะเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีก็ได้ เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้ามาประมูลจำนวนมาก
6. ให้เจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน 56 ราย ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อ ปรส. ภายใน 2 เดือน และภายหลังจากที่พระราชกำหนดนี้ประกาศใช้ ให้เจ้าหนี้หยุดคิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน 56 ราย
7. ให้ ปรส.สามารถเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน 56 ราย แก่บุคคลภายนอกตามความจำเป็นและสมควรได้ เพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบัน
8. ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากสถาบันการเงิน 56 รายได้กฏหมาย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน โทร. 263-2299 --จบ--