รฟม.เตรียมจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก

01 Jun 1998

กรุงเทพ--1 มิ.ย.--รฟม.

คณะกรรมการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการเพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา เพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งอื่นๆ ในวงเงินค่าจ้าง 241 ล้านเยน ภายในระยะเวลา 18 เดือน

ในการกำหนดขอบเขตการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา รฟม. นอกจากการศึกษาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณสถานีรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (รวมเส้นทางโครงการฯ ระยะแรก และส่วนต่อขยาย) แล้ว ยังมีการศึกษาครอบคลุมถึงโครงการรถไฟฟ้าธนายง สถานีขนส่งสายเหนือ/สายใต้/สายตะวันออก สถานีรถไฟหัวลำโพง/บางซื่อ/วงเวียนใหญ่/บางกอกน้อย/และท่าเทียบเรือบริเวณบางกอกน้อย/สะพานตากสิน/ผ่านฟ้าอีกด้วย โครงการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วย การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดินบริเวณสถานี การจัดทำรายละเอียดแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีที่มีลำดับความสำคัญสูง การเลือกสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางที่จะทำการก่อสร้าง การออกแบบทางด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ด้านการเงิน การเสนอด้านการจัดองค์กร และการจัดทำแผนการดำเนินงาน

นอกจากนี้ เพื่อให้การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินงานไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากขอบเขตของงานการศึกษาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รฟม.จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้าง และคณะกรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รฟม. เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ รฟม.เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกองวางแผน รฟม.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจในการพิจารณารายละเอียดข้อกำหนดการศึกษา การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก การดำเนินการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา การเจรจาต่อรอง และการพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้าง และยังมีหน้าที่รายงานผลการพิจารณาเสนอคณะกรรมการ รฟม. เพื่อพิจารณาอนุมัติการว่างจ้างที่ปรึกษาต่อไป

และเพื่อให้การนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ รฟม.ได้ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) เพื่อจัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการศึกษา และนำเสนอผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ และสั่งการต่อไป

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้เงินกู้เงินเยนที่ รฟม. ได้รับจากรัฐบาลญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 จำนวน 32,659 ล้านเยน ได้แบ่งเป็นเงินกู้ 2 งาน คือ ส่วนที่ใช้ในการก่อสร้าง และส่วนที่สอง เป็นส่วนค่าใช้จ่ายในการศึกษา เพื่อจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งต่างๆ บริเวณสถานีรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน--จบ--