กรุงเทพ--4 ธ.ค.--กรมการประกันภัย
ตามที่ คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีความผิดได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบคดีความผิด ครั้งที่ 5/2540 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 โดยมี นางสาวภัทรา สกุลไทย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน อธิบดีกรมการประกันภัยและผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการประกันภัยเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ นั้น
นายพิพรรธน์ อินทรศัพท์ อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้เปรียบเทียบปรับบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 9 บริษัท บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 4 บริษัท บริษัทประกันชีวิต จำนวน 1 บริษัท และบุคคลแอบอ้างเป็นตัวแทน หรือนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 สำหรับกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1. บริษัทประกันวินาศภัย ที่ได้กระทำการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 คณะกรรมการฯ มีมติให้เปรียบเทียบปรับตามที่ได้กระทำความผิด คือ
1.1 ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยก่อนได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 25,000 บาท
1.2 ออกใบเสร็จรับเงินรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนกัน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31(13) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 250,000 บาท
1.3 จ่ายค่าบำเหน็จให้แก่บุคคลที่มิใช่ตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยให้มีการทำสัญญาประกันภัย เป็นการฝ่าฝืน 31(9) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 125,000 บาท
1.4 จ่ายเงินให้แก่นายหน้าประกันวินาศภัย นอกจากเงินค่าจ้างหรือค่าบำเหน็จที่พึงจ่ายตามปกติ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31(7) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 250,000 บาท
1.5 จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบำเหน็จจากกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้พนักงานและนายหน้าประกันวินาศภัย เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31(6) (7) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับ เป็นเงินทั้งสิ้น 375,000 บาท
2. บริษัทประกันชีวิต กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ให้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนค่าสินไหมทดแทน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบ เป็นเงิน 10,000 บาท
3. บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัย ไม่ลงรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชีภายในระยะเวลาเจ็ดวันตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับ เป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท
4. บุคคลที่กระทำการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีมติให้เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 50,000 บาท
อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงโทษปรับบริษัทประกันภัยและผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายประกันภัย เป็นมาตราการหนึ่งในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยทั้งนี้เพื่อให้บริษัทประกันภัยปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบและข้อบังคับของกฎหมายประกันภัยโดยเคร่งครัด ซึ่งในปี 2540 คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับคติความผิดได้ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 5 ครั้ง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,975,000 บาท--จบ--