กรุงเทพ--4 ก.พ.--ปตท.
เช้าวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2541) ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาทวัดป่ามหาวัน อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และพระกิตติศักด์ กิตติโสภโณ จากวัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เดินทางมาเพื่อมอบหนังสือถึง นายพละ สุขเวช ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ ปตท.ช่วยดูแลช้างป่าสงวนห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการวางท่อส่งก๊าซฯ โดยมีนายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน ได้ให้ข้อชี้แนะว่าให้ระมัดระวังในการก่อสร้าง และหาทางลดผลกระทบต่อช้างในช่วงที่ทำการก่อสร้าง อย่าให้มีผลกระทบ หรือหาทางบรรเทาผลกระทบต่อเส้นทางเดินของช้างให้มากที่สุด
นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้กราบเรียนชี้แจงว่าทาง ปตท.รับข้อชี้แนะ และจะดูแลให้ดีที่สุด และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าช่วงที่เป็นเส้นทางเดินผ่านของช้าง KP 22 - KP 38 นั้น จะต้องรีบทำการก่อสร้างนำท่อลงฝังกลบเป็นช่วงสั้น ๆ และสลับเว้นเส้นทางให้ช้างเดินไปมาได้สะดวก อย่างไรก็ตามในพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่ด้วย ปตท.ได้แจ้งให้ชาวบ้านรับทราบว่า หากช้างเข้ากินพืชไร่อย่าทำร้ายช้าง ปตท.จะดูแลค่าเสียหายให้เอง ในด้านงานก่อสร้างก็จะเร่งงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น และเมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จจะรีบปลูกพืชคลุมดินด้วยพันธ์ไม้ท้องถิ่นโดยเร็ว
ในขณะเดียวกัน ได้เตรียมมาตรการและแผนดำเนินการรองรับในระยะยาวในหลายรูปแบบ อาทิ กันผลัดดันให้พื้นที่ป่าสงวนเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จัดทำข้อมูลด้านป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศน์ไว้อ้างอิงเปรียบเทียบ การจัดการพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และพื้นที่หากินของช้างและสัตว์ป่า การป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า การจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าของทางราชการ การจัดตั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่า และสัตว์ป่า การพัฒนาอาชีพเสริม และรูปแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งหมดนี้ให้มีการร่วมกันทั้งภาครัฐ ชาวบ้าน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) เพื่อให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปตท.จะรับผิดชอบดูแลและร่วมดำเนินการ และจัดสรรเงินกองทุน
นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ชี้แจงด้วยว่านับเป็นเมตตาจากท่านอาจารย์พระไพศาลที่ได้ให้ข้อชี้แนะด้วยความเป็นห่วงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ลักษณะการก่อสร้างจะเกิดผลกระทบแบบชั่วคราวในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนเท่านั้น มิได้ส่งผลกระทบในรูปแบบถาวร เมื่อนำท่อก๊าซฯ ลงดินฝังกลบแล้ว จะฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิม โดยมีโครงการปลูกป่าบริเวณแนวท่อ 10,000 ไร่ และอนุรักษ์พื้นที่ป่าอีก 30,000 ไร่
สำหรับการแก้ไขปัญหาของช้าง หรือสัตว์ป่าอื่น ๆ ในระยะยาวนั้น ปตท.ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันหารือเพื่อวางแผนศึกษาวงจรชีวิตของช้าง ปูราชีนี ค้างคาวกิตติ และพันธพืชต่าง ๆ ตลอดจน ดินโป่ง และแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งหากินของช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานจัดทำเป็นโครงการอนุรักษ์ช้างอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป หากท่านใดมีข้อชี้แนะ หรือ ต้องการ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างท่อก๊าซฯ โปรดแจ้งที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย 537-2150-1 ได้ทุกวัน--จบ--