กรุงเทพ--16 ต.ค.--คจร.
เมืองปากน้ำโพเตรียมรับมอบแผนแม่บทการจราจรและขนส่งจากสจร.ในวันที่ 20 ต.ค.ศกนี้ คาดใช้งบประมาณโครงการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ร่วม 2 พันล้านบาท เลขาธิการ คจร.เผยแผนระยะสั้นเน้นแก้ไขปัญหาวินัยจราจรเป็นอันดับแรก
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยถึงการจัดทำแผนแม่บทการจราจรและขนส่ง จังหวัดนครสวรรค์ว่า ปัญหาการจราจรและขนส่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาคอีกด้วย สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) จึงมีการวางแผนป้องกันและบรรเทาปัญหาการจราจรและขนส่งในเขตเมืองนครสวรรค์ ตามหลักด้านการจราจรและขนส่งที่มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ
พ.ต.ต.ยงยุทธ เปิดเผยอีกว่า การจัดทำแผนแม่บทการจราจรและขนส่ง จ.นครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของปัญหาหรือสาเหตุและแนวโน้มของปัญหาการจราจรและขนส่งของ จ.นครสวรรค์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อจัดทำแผนแม่บทด้านการจราจรและขนส่งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อันจะนำไปสู่แผนงานแก้ไขและป้องกันปัญหาตามลำดับความสำคัญอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แผนฯ ดังกล่าวเป็นแบบอย่างแก่เมืองรองอื่น ๆ ในการนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งด้านการวิเคราะห์ปัญหาเสนอโครงการและบริหารด้านการจราจร และเพื่อจัดเตรียมระบบฐานข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวางแผนสำหรับอนาคต
"จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว สจร. จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้นำในการศึกษาภายใต้ความร่วมมือของบริษัท สินธุ ไพด์ โบเดลล์ จำกัด ซึ่งขณะนี้การจัดทำแผนฯ ดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วและพร้อมจะส่งมอบให้จ.นครสวรรค์ในวันจันทร์ที่ 20 ต.ค. ศกนี้" เลขาธิการ คจร. กล่าวเสริม
พ.ต.ต.ยงยุทธ เปิดเผยถึงรายละเอียดของแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งจ.นครสวรรค์ระยะสั้นว่า แผนฯ ดังกล่าวสามารถที่จะดำเนินการได้ทันทีเนื่องจากเป็นการจัดการจราจรในส่วนของปัญหาที่เกิดจากการขาดระเบียบวินัยของผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด และจอดซ้อนคันในบริเวณย่านสำคัญ ๆ
ในส่วนของแผนระยะยาวซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,483 พันล้านบาท เป็นแผนที่จะต้องสัมพันธ์กับการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนในพื้นที่ให้สมบูรณ์ ประกอบด้วยโครงการถนนตามแนวผังเมืองรวม ใช้งบประมาณ 480 ล้านบาท โครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวงหมายเลข 1 ใช้งบประมาณ 160 ล้านบาท โครงการถนน-เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตกของถนนพหลโยธิน โดยไม่ผ่านสี่แยกสะพานเดชาติวงศ์ ใช้งบประมาณ 393 ล้านบาท และสะพานข้ามถนนพหลโยธิน ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท
"นอกจากนี้ยังมีโครงการเสริมปี พ.ศ.2546 หรือปี พ.ศ.2547 ในการบริการรถโดยสารประจำทางพิเศษรองรับการเดินทางแนวเหนือ-ใต้ของเมืองคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 50-100 ล้านบาท ในการจัดเตรียมรถบริการและสถานีเป็นจุดรับ-ส่งผู้โดยสาร และการปรับปรุง-ขยายสะพานเดชาติวงศ์ หรือก่อร้างสะพานขึ้นใหม่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท" เลขาธิการ คจร. กล่าวในตอนท้าย--จบ--