กรมอนามัย แนะ ประชาชน หลังแผ่นดินไหว ตรวจสอบ คุณภาพน้ำ และระบบประปา

31 Mar 2025

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ที่พักอาศัย และอาคารบางส่วน เกิดรอยร้าว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบภายในตัวอาคาร กรมอนามัย มีข้อแนะนำ เกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบระบบประปาเบื้องต้น ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง และติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา แก้ไข ซ่อมแซม เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กรมอนามัย แนะ ประชาชน หลังแผ่นดินไหว ตรวจสอบ คุณภาพน้ำ และระบบประปา

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความห่วงใยผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำเนินชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ที่พักอาศัย และอาคารบางส่วน เกิดรอยร้าว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบภายในตัวอาคาร กรมอนามัย มีข้อแนะนำ เกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบระบบประปาเบื้องต้นที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแนวทางการตรวจสอบระบบน้ำประปาหลังการเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้ 1) ตรวจสอบมาตรวัดน้ำ และท่อจ่ายน้ำหลักปิดก๊อกน้ำและวาล์วหน้ามาตรวัดน้ำ ให้สังเกตมาตรวัดน้ำ หากยังหมุนอยู่ อาจบ่งชี้ว่ามีการรั่วไหลในระบบประปาภายในบ้าน ควรรีบตรวจสอบและซ่อมแซม ตรวจสอบท่อประปาและอุปกรณ์ สำรวจท่อประปา หากมีรอยร้าว รั่วซึม หรือความเสียหายอื่นๆหากพบความเสียหาย ควรดำเนินการซ่อมแซมทันที เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของน้ำและการสูญเสียน้ำ 2) ตรวจสอบถังพักน้ำและปั๊มน้ำ ถังพักน้ำบนดาดฟ้า/ใต้ดิน ตรวจสอบรอยร้าวหรือการรั่วไหลของน้ำ หากมีตะกอนหรือสีของน้ำเปลี่ยนไป อาจเกิดการปนเปื้อน ปั๊มน้ำ ตรวจสอบว่าปั๊มน้ำยังทำงานปกติหรือไม่ หากปั๊มไม่ทำงาน อาจเกิดจากไฟฟ้าขัดข้องหรือปั๊มเสียหาย หากถังพักน้ำใต้ดินรั่ว จะส่งผล ให้น้ำอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากดิน เช่น แบคทีเรียไวรัส โลหะหนัก อาจทำให้โครงสร้างพื้นดินรอบ ๆ ทรุดตัว ระบบปั๊มน้ำอาจทำงานหนักขึ้นและเสียหายเร็วขึ้น แนวทางแก้ไข หยุดใช้น้ำ จากถังพักน้ำที่รั่ว อุดรอยรั่วด้วยวัสดุกันซึม ล้างและฆ่าเชื้อระบบด้วยคลอรีนเข้มข้น

"3) ตรวจสอบท่อประปาภายในอาคาร และตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้น เช็คอ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ชักโครก และฝักบัว เปิดน้ำดูว่ามีน้ำไหลอ่อนหรือไม่ หากน้ำไหลอ่อนลง อาจมีการรั่วเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไข ตรวจสอบสี ความขุ่น และกลิ่นของน้ำ ดูว่ามีน้ำขุ่น สีหรือกลิ่นแปลก ๆ อาจเกิดจากท่อแตกร้าว การล้างท่อและระบายน้ำขุ่น เปิดน้ำทิ้ง 5-10 นาที จนกว่าน้ำใสขึ้นและไม่มีสิ่งปนเปื้อนก่อนใช้งาน หากมีการซ่อมแซมท่อประปาใกล้บ้าน อาจต้องรอให้หน่วยงานมาระบายตะกอนในเส้นก่อประปา ก่อนใช้งาน 4) ล้างและฆ่าเชื้อระบบน้ำ เมื่อพบว่าน้ำอาจปนเปื้อน ให้ล้างถังพักน้ำ (แนะนำล้างถังพักทุก 6 เดือน) สำรวจรอบๆ ถังพัก เพื่อตรวจสอบจุดชำรุดของถังพัก ปิดวาล์วน้ำเข้า เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าถัง และเปิดระบายน้ำออกจากถังฉีดล้างถังพักน้ำทั้งภายนอกและภายใน เพื่อล้างทำความสะอาดและไล่ตะกอนในถัง ฉีดน้ำผสมคลอรีน 50 มิลลิกรัม/ลิตร (ทิ้งไว้ 30 นาที จากนั้นปล่อยน้ำคลอรีนทิ้ง แล้วเปิดวาล์วน้ำเข้าถังเพื่อใช้งาน) การจัดการคุณภาพน้ำประปา การใช้สารส้ม ใช้สารส้มแกว่งในน้ำ เพื่อตกตะกอนความขุ่นของน้ำ การต้ม ต้มน้ำให้เดือดอย่างน้อย1 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนดื่ม และ 5) ติดตามอาการผิดปกติของผู้ใช้น้ำหลังแผ่นดินไหว ระบบทางเดินอาหาร ท้องเสียเฉียบพลัน อุจจาระเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาการทางตา ตาแดง (ไวรัส/แบคทีเรีย) แสบตา น้ำตาไหล มีขี้ตา อาการทางผิวหนัง ผื่นคัน แผลติดเชื้อ ผิวลอก คัน แผลบวมแดง โปรดสังเกตอาการผิดปกติ หากรุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที และติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา แก้ไข ซ่อมแซม ระบบประปาที่ชำรุดประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กรมอนามัย หรือ https://www.anamai.moph.go.th/th หรือ Facebook กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข https://www.facebook.com/anamaidoh/ หรือ 1478 สายด่วนกรมอนามัย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว