มทร.ธัญบุรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ในเวทีโลก คว้า 6 รางวัล จากงาน "iENA 2024" เยอรมนี

01 Nov 2024

มทร.ธัญบุรี ทำสำเร็จในการประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรมนานาชาติ International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products : iENA 2024 ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี โดยมีผลงานเข้าร่วมทั้งหมด 3 ผลงานใหญ่ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เข้าร่วม และคว้ารางวัลสำคัญได้มากถึง 6 รางวัล สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในเวทีโลก สะท้อนความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักวิจัยไทย

มทร.ธัญบุรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ในเวทีโลก คว้า 6 รางวัล จากงาน "iENA 2024" เยอรมนี

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า รางวัลที่ได้จากการเข้าร่วมการประกวด iENA 2024 ที่ประเทศเยอรมนี มีด้วยกัน 3 ผลงาน และได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 6 รางวัล คือ ผลงานชิ้นที่ 1 Innovative Hand-woven Fabric from Cattail Flower Fiber ได้รางวัล Gold Medal และ Special Awards จากประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยรศ.ดร.สาคร ชลสาคร ผศ.ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล และน.ส.พรนภา บุญยะพัน จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ผลงานชิ้นที่ 2 Storage and dispensing system of medications in hospitals ได้รางวัล Silver Medal และ Special Awards จากประเทศเกาหลี โดยนายอภิชัย แสงประดิษฐ์ นายนพรัตน์ สิงห์ทอง นายอภิสิทธิ์ เหมือนเมือง นายธีระภัทร แก้วปรารถนา นายดาริส แอนดริส ดร.สุรศักดิ์ ทิมพิทักษ์ และผศ.ดร.มนูศักดิ์ จานทอง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ผลงานชิ้นที่ 3 Innovative Underwear to Prevent the Visibility of Male Genitalia for LGBTQ+ ได้รางวัล Bronze Medal และ Special Awards จากประเทศไต้หวัน โดยรศ.ดร. สาคร ชลสาคร ผศ.ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล และน.ส.ไพรินทร์ เที่ยงผดุง คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา คณะวิศวกรรมศาสตร์

รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยังกล่าวอีกด้วยว่า ผลงานทั้งหมดมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ รวมถึงปัญหาความหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจต่อคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอีกด้วย ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการยืนยันถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านความต้องการของตลาดและประโยชน์ในระดับสังคม การคว้ารางวัลจากหลายประเทศในเวทีนี้เป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมให้นวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม ทั้งยังส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับการมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทโลก.