ปกป้องโลกด้วยมือเรา ลดขยะอาหารตั้งแต่ที่บ้าน

19 Nov 2024

กินทิ้ง กินขว้าง กินเหลือ กินแล้วเททิ้งรวมปนกับขยะทั่วไป พฤติกรรมเหล่านี้ควรถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปรับเปลี่ยนไม่ให้เกิดขึ้นอีกในทุก ๆ ครั้งของการซื้อและการบริโภคอาหารของพวกเราทุกคน !

ปกป้องโลกด้วยมือเรา ลดขยะอาหารตั้งแต่ที่บ้าน

สิ่งที่น่าหวาดกลัวตามมาจากพฤติกรรมที่สร้างปัญหาขยะอาหารเหล่านี้เห็นได้ชัดจากรายงาน Food Waste Index Report 2024 ของ UNEP (UN Environment Programme) ได้เผยข้อมูลปี 2022 ไว้ว่าครัวเรือนทั่วโลกสร้างขยะอาหารรวมกันมากกว่า 1 พันล้านมื้อต่อวัน แต่ขณะเดียวกันกลับมีผู้คนอีกมากมายต้องเผชิญกับความหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยขยะอาหารราว 1.05 พันล้านต้น มีปริมาณขยะอาหารถึง 60% ที่เกิดขึ้นจากครัวเรือนสูงสุด และยังส่งผลกระทบต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก 8-10 % ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลก ดังนั้นผู้บริโภคจากครัวเรือน จึงถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดขยะอาหารสำคัญที่จะต้องป้องกันและมีแนวทางลดขยะอาหารไม่ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (2566-2570) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำขึ้นมีการกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารในกลุ่มผู้ซื้อและผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดทำองค์ความหรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการป้องกันและลดขยะอาหาร ทั้งวางแผนการจัดซื้อ การเลือกซื้อ และเก็บรักษาอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม การตัดแต่งวัตถุดิบอาหารเพื่อลดการเกิดขยะอาหารให้น้อยที่สุด การดัดแปลงเมนูอาหารจากอาหารส่วนเกิน การถนอมอาหาร หรือแม้แต่การรับรู้ความหมายและความแตกต่างของวันหมดอายุ (Expiry Date) และวันที่ควรบริโภคก่อน (Best Before End) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริโภคอย่างอย่างยั่งยืน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันและลดขยะอาหารของผู้ซื้อและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การสร้างค่านิยมในการบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่สวย วางแผนการซื้ออาหาร ทำอาหารในปริมาณที่พอดีและรับประทานได้หมด ไม่กินเหลือทิ้งจนเป็นขยะอาหาร และคัดแยกขยะอาหารตั้งแต่ครัวเรือน อีกทั้งการใช้ทฤษฎีสะกิดพฤติกรรม (Nudge Theory) มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อและผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ซื้อและบริโภคเท่าที่จำเป็น ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย นำกลับมาใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมเกื้อหนุนเกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนอาหารกับเพื่อนบ้าน เพื่อลดปริมาณขยะอาหารที่เหลือทิ้ง หรือการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ในปริมาณที่พอดี เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้การจัดเก็บอาหารอย่างเหมาะสมไว้ในตู้เย็น ถือเป็นเทคนิคการเก็บรักษาที่ผู้ซื้อและผู้บริโภคสามารถทำได้ไม่ยาก ซึ่งความเย็นจะช่วยให้อาหารไม่เน่าเสียเร็ว เช่น การเก็บกล้วยงอม สามารถนำไปแช่ฟรีซได้และนำไปทำเมนูอาหารในภายหลังอย่างเมนูเค้กกล้วย การเก็บไอศกรีมควรแช่ฟรีซไว้ด้านในสุดของช่องฟรีซ การเก็บเนื้อสัตว์ แช่ในช่องฟรีซโดยอาจแบ่งใส่กล่องหรือถุงพร้อมระบุวันที่ตามปริมาณที่กินในแต่ละมื้อ การเก็บผักและผลไม้ สามารถแยกเก็บตามชนิดที่เก็บได้นานกว่าควรไว้ชั้นล่างสุดเพื่อให้ความสดอยู่ได้นาน การเก็บไข่ ให้ด้านป้านอยู่บนด้านแหลมอยู่ล่างและเก็บในชั้นวางไข่ หรือการเก็บนม ควรเก็บในช่องกลางของตู้เย็นเพื่อรักษาอายุได้หลายวัน

แต่ท้ายที่สุดแล้วหากมีขยะอาหารที่เกิดขึ้นในครัวเรือน ก็ต้องไม่ลืมที่จะคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไปก่อนนำไปกำจัดหรือสร้างประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกันและลดขยะอาหารที่ผู้ซื้อและผู้บริโภคหลาย ๆ บ้านอาจทำกันอยู่เป็นประจำ หรือ หากมีครัวเรือนไหนกำลังตั้งใจว่าจะเริ่มทำ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการมีส่วนร่วมลดปริมาณขยะอาหาร ลดมลพิษ และลดโลกร้อน เพราะอย่างน้อยก็ขอให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ บ้าน ได้ภาคภูมิใจว่า เราได้ช่วยส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ได้ช่วยปกป้องให้โลกของเราไม่ร้อนขึ้น เสมือนหนึ่งว่าได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ กอบกู้โลกกลม ๆ ใบนี้ด้วยสองมือของเรา

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit