กรมสรรพสามิต จุฬาฯ PTTOR และบางจากฯ ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

04 Feb 2025

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าวันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2568) กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท.. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนที่สถานีบริการน้ำมัน PTT และสถานีบริการน้ำมันบางจาก ถนนวิภาวดีรังสิต

กรมสรรพสามิต จุฬาฯ PTTOR และบางจากฯ ลงนาม MOU บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่าตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Pricing) แรกของประเทศไทยที่แสดงสัดส่วนของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยสามารถคำนวณได้จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ซึ่งเป็นค่าที่สามารถคำนวณได้ทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งภาครัฐเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง ยังได้นำข้อมูลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการดังกล่าวเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ปตท.. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำร่องการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค โดยแสดงปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับผู้บริโภคในการเติมน้ำมันแต่ละครั้งผ่านหน้าจอ ณ สถานีบริการ สำหรับบริษัท ปตทฯ และผ่าน Bangchak Mobile Application ของบริษัท บางจากฯ โดยการเติมน้ำมันแต่ละครั้ง ประชาชนจะรับทราบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2)เท่าใดจากจำนวนน้ำมันที่เติม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดการปล่อย Co2 ในระยะยาวได้ ดร.เผ่าภูมิกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายเสรี อนุพันธนันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกำหนดกลไกราคาคาร์บอนผ่านภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการใช้มาตรการภาษีเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบางจากฯ ในฐานะองค์กรพลังงานชั้นนำของไทย มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอน สนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภค ร่วมกับกรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมลส์ ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมันบางจากที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ ภายใต้แคมเปญ "ต้นไม้ของคุณ" ซึ่งจะบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันสมาชิกบัตรบางจากกรีนไมลส์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมการใช้น้ำมันรักษ์โลกเข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบางจากฯ ได้ดำเนินโครงการด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้รับการรับรอง Carbon Footprint of Product (CFP) สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง 5 รายการ เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

นอกจากนี้ นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธาน Carbon Markets Club กล่าวว่า "Carbon Markets Club จะร่วมสื่อสารเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนและโครงการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนนี้ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างด้วย"

สำหรับโครงการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนนี้ จะเริ่มสื่อสารตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างวิจัยประมาณ 3,500 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต บางจากฯ ขอขอบคุณพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน รวมถึงลูกค้าและสมาชิกบัตรกรีนไมลส์ ที่มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับภาษีคาร์บอน ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำและสร้างโลกยั่งยืน