นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) บริเวณสะพานเขียวและสุขุมวิท นานาพลาซ่าสูญหายว่า จากการตรวจสอบพบว่า เครื่อง AED ทั้ง 2 จุด ไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของ สนพ. จึงไม่สามารถทราบสถานะเครื่องได้ หากหน่วยงานมิได้แจ้งเข้าสู่ระบบค้นหาของเว็บไซต์ Bangkok Health Map ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมตำแหน่งของหน่วยบริการและสถานพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ค้นหาจุดติดตั้งเครื่อง AED ที่ใกล้ที่สุด ค้นหาคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการดูแลสุขภาพอย่างเป็นมิตรและมีมาตรฐาน ค้นหาสถานที่ตรวจสุขภาพเพื่อรับการตรวจร่างกายและการวินิจฉัยโรค รวมถึงค้นหาร้านขายยาที่ได้รับการจดทะเบียนการันตีความน่าเชื่อถือและคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่อง AED ที่เป็นทรัพย์สินของ สนพ. จะติดตั้งเฉพาะในอาคารของภาครัฐเท่านั้น เพื่อป้องกันการสูญหาย โดยมีหน่วยงานสังกัด กทม. เป็นผู้ดูแลรายงานและติดตามสถานะความพร้อมใช้ของตัวเครื่องเป็นระยะตามกำหนด สามารถตรวจสอบจุดติดตั้งผ่านเว็บไซต์
นอกจากนี้ สนพ. ยังได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องกระตุกหัวใจ AED รวมถึงอันตรายจากการใช้ที่ไม่ถูกวิธี เนื่องจากเครื่องกระตุกหัวใจ AED เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งหากเกิดอาการ เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและหมดสติ มีอาการแน่นหน้าอก สงสัยว่าโรคหัวใจกำเริบที่ไม่รู้สึกตัว รวมถึงได้รับอุบัติเหตุจากไฟฟ้าซ็อกที่ไม่รู้สึกตัว หากไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใน 4 นาที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การใช้เครื่อง AED ควบคู่กับการทำ CPR ทันทีจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น โดยเครื่อง AED ออกแบบมาให้บุคคลทั่วไปใช้งานง่าย มีคำแนะนำเป็นเสียงและภาพตามขั้นตอนอย่างชัดเจน ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อนที่ทีมแพทย์จะมาถึงตัวผู้ป่วยที่หมดสติ ดังนั้น หากพบผู้หมดสติและไม่มีชีพจร ให้รีบแจ้งศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 และเริ่มทำ CPR ทันที พร้อมทั้งใช้เครื่อง AED ที่อยู่ใกล้เคียงช่วยฟื้นคืนชีพอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่อง AED มีข้อควรระวัง ดังนี้ ห้ามวางแผ่นนำไฟฟ้าผิดตำแหน่ง ไม่ใช้ในพื้นที่เปียกน้ำ หรือหากจำเป็นต้องใช้ขณะอยู่ในพื้นที่เปียกควรเช็ดตัวให้แห้งก่อน ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยขณะช็อกไฟฟ้า และต้องทำ CPR ควบคู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม กทม. ขอความร่วมมือประชาชนช่วยสอดส่องดูแลเครื่อง AED ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ หากพบตู้ติดตั้งไม่มีเครื่องอยู่ภายใน หรือเครื่องอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน สามารถแจ้งให้เจ้าของสถานที่ หรือรายงานไปยังศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงและแก้ไขสถานะเครื่อง AED ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit