จุฬาฯ จัดเสวนา "ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ" พบมีการนำเข้ามากกว่า 1 ครั้งจากหลายพื้นที่ ยากที่จะกำจัด แต่ยังมีความหวัง

09 Aug 2024

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ (ARRI Chula) จัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 "ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ" โดยเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายสถาบันและหน่วยงาน เพื่อร่วมกันหาทางออกและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย พร้อมตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากสังคม

จุฬาฯ จัดเสวนา "ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ" พบมีการนำเข้ามากกว่า 1 ครั้งจากหลายพื้นที่ ยากที่จะกำจัด แต่ยังมีความหวัง

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 - 11.00 น. ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ และ ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวเปิดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 "ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ" ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์พิเศษ ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายสถาบันและหน่วยงานร่วมเสวนา พร้อมบุคลากรผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนใจทั่วไป และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า ปัญหาปลาหมอคางดำเป็นปัญหาวิกฤตที่ส่งผลทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการให้คำตอบแก่สังคมเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในประเทศ การเสวนาในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความคิดจากทุกภาคส่วนและผนึกความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ ผู้ที่มีความรู้ทางด้านทรัพยากรทางน้ำ วิศวกร ฯลฯ มาแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ข้อมูลจากมุมมองทางวิชาการทางด้านปลาหมอคางดำในหลากหลายมิติจากการเสวนาครั้งนี้จะนำเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ (ARRI Chula)และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ แต่จริง ๆ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศพูดกันมานานเป็น 20 ปี แล้ว ถึงภัยคุมคามและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรงต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ ประเทศไทยมีการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาในประเทศนานแล้ว ส่วนใหญ่ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะถูกนำเข้ามาเพื่อการเกษตรและการเพาะเลี้ยง แต่ช่วงหลังมีการนำเข้ามาเพื่อเป็นปลาสวยงาม แต่เนื่องจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ประเทศไทยนำเข้ามา ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและปากท้อง จึงทำให้เรามองข้ามผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ อย่างเช่น กุ้งขาว เป็นต้น

"สัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เมื่อนำเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่เคยมีพวกเค้ามาก่อน อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่อาจจะรุนแรงมากหรือน้อย และอาจจะใช้เวลาให้เห็นผลกระทบช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับจำนวนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่ด้วย คงที่จะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรที่จะให้ความสำคัญและกำหนดกฎเกณฑ์ และมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง มีการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพราะถ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถตั้งรกรากอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งได้แล้ว  โอกาสที่จะกำจัดให้หมดไปคงเป็นไปได้ยาก" ศ.ดร.สุชนา กล่าว

ในส่วนของการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องนั้น รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากแผนปฏิบัติการ 7 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 ของคณะคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมาตรการที่ 5 ที่ระบุว่า สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการจัดการกับการแพร่ระบาดของมัน

"ตัวอย่างเช่น บอกว่า ไม่เหมาะเป็นอาหารมนุษย์ ไข่ปลาตากแดดไว้ 2 เดือนยังฟักเป็นตัวได้ นกกินไข่ปลาเข้าไป ถ่ายออกมาแพร่พันธุ์ได้ ปลานิลกลายพันธุ์ผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำ กลายเป็นปลานิลคางดำ ฯลฯ หรือแม้แต่กรณีของการสื่อสารออกไปคลาดเคลื่อน ว่าปลาหมอคางดำในประเทศไทยมีดีเอ็นเอเหมือนกันหมด ฟันธงว่ามาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้ว ไม่สามารถระบุได้เช่นนั้น เพราะขาดตัวอย่างลูกปลาที่เคยนำเข้ามาในอดีต มาวิเคราะห์เทียบเคียง แต่ก็ยังมีความหวัง ด้วยการนำเอาลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศไทย มาวิเคราะห์เทียบกับปลาหมอคางดำในประเทศอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ก็จะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นถึงที่มาของการแพร่ระบาด ว่าเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศใด" รศ.ดร. เจษฎา กล่าว

สำหรับคำถามที่ว่าการกระจายพันธุ์ของปลาหมอทั่วประเทศ มาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่นั้น ผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่าจากการศึกษาดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ ที่รายงานโดยกรมประมง เมื่อปี 2561 -2563 พบว่ามีการรุกรานระลอกแรกที่พบพื้นที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรปราการ ประจวบ ชุมพร และ ระยอง บ่งชี้ว่าปลาจากทั่วประเทศ อาจมาจากการนำเข้าพื้นที่มากกว่า 1 ครั้ง นอกจากนี้ การกระจายต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างกัน น่าจะไปโดยการนำพาเข้าไปของมนุษย์ มากกว่าที่จะไปโดยธรรมชาติ

"บทเรียนสำคัญที่ได้จากการรุกรานของปลาหมอคางดำและความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นจำเป็นของการประเมินความเสี่ยงและวางมาตรการรับมืออย่างเหมาะสม โดยอาจต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการนำเข้าด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์" ผศ.ดร.วันศุกร์ กล่าวเพิ่มเติม

ในด้านของการควบคุมและกำจัด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองว่าวิธีการจัดการด้วยการใช้ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพในการยุติการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำที่กำลังวิกฤตในขณะนี้

"เดิมทีประเทศไทยเคยมีคำพูดที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่มาตอนนี้ในน้ำของเรามีแต่ปลาหมอคางดำ แม้กระทั่งบ่อเกษตรกรก็ไม่รอด ในกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่เผชิญกับการรุกรานของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ จะมีวิธีการจัดการด้วยการใช้ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เช่น การจัดการด้วยเรือช็อตไฟฟ้า เครื่องช็อตไฟฟ้าแบบสะพายหลัง และตะแกรงช็อตไฟฟ้า เพราะเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทิ้งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เพราะหากไม่มีปลาหมอคางดำแล้ว ก็จะสามารถสร้างระบบนิเวศน์สัตว์น้ำขึ้นมาได้ใหม่ โดยการปล่อยและเพาะพันธ์สัตว์น้ำคืนตามธรรมชาติ เพื่อทำให้ในน้ำของเรากลับมามีปลาอย่างเช่นเคย"

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนออีกทางเลือกหนึ่งในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำทางชีวภาพสามารถทำได้โดยการปรับแต่งจีโนม (genome editing) ซึ่งเป็นเทคนิคที่แก้ไขรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งที่ต้องการอย่างจำเพาะ และไม่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) หากไม่มีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตอื่นหลงเหลืออยู่

"เทคนิคนี้สามารถใช้เปลี่ยนเพศปลาได้ ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วในปลานิล นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคดังกล่าวในการสร้างระบบ gene drive ที่ควบคุมประชากรยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การใช้ระบบ gene drive นี้จะเป็นการปล่อย GMO สู่สิ่งแวดล้อม จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับแต่งจีโนมเพื่อเปลี่ยนเพศ ร่วมกับการนำระบบ gene drive มาใช้ในการจัดการการระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งในด้านเทคโนโลยี และแนวทางในการป้องกันหรือลดทอนผลกระทบต่อระบบนิเวศ อีกอย่างน้อย 2-3 ปี" ผศ.ดร.อนงค์ภัทร กล่าว

คุณคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ (นักวิชาการประมงเชี่ยวชาญ) กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันการควบคุมปลาหมอคางดำด้วยชีววิธี (Biological control) ที่กรมประมงเลือกใช้มี 2 วิธีได้แก่ 1) การปล่อยปลาผู้ล่าได้แก่ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากดแก้ว เป็นต้น 2) การปล่อยปลาหมอคางดำโครโมโซม 4 ชุด (4n) เพื่อให้ไปผสมกับปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำแล้วได้ลูกที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ วิธีควบคุมปลาหมอคางดำทั้ง 2 วิธีนี้มีเป้าหมายทำให้ประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำลดลง ทั้งนี้กรมประมงคำนึงถึงปริมาณปลา(ปลาผู้ล่า และปลา 4 n) และช่วงเวลาที่จะดำเนินการปล่อยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด

สำหรับงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 "ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ" ผู้สนใจ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ทาง Facebook Live: Chulalongkorn University https://www.facebook.com/ChulalongkornUniversity