สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน ดีกรีแชมป์งานหัตถกรรมฝีมือ"พาณิชย์" เดินหน้าสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) "เสื่อกกนาหมอม้า" ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกก ผ่านกระบวนการทอเสื่อด้วยมือ ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ลวดลายสวยงาม การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศงานหัตถกรรมฝีมือชุมชน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าพร้อมส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาด อย่างต่อเนื่อง" ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาลล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน "เสื่อกกนาหมอม้า" เป็นสินค้า GI ตัวแรกประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 208 สินค้า มูลค่ารวมกว่า 73,000 ล้านบาทต่อปี "เสื่อกกนาหมอม้า" คือ เสื่อกกและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกที่ทอเสื่อด้วยมือ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีพื้นที่เป็นที่ลุ่มและมีเนินเขาเตี้ยๆ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย มีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน และมีลำน้ำอยู่ทั่วทั้งจังหวัด ดินสามารถกักเก็บความชื้นได้ดีและมีความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกก ทำให้ต้นกกนาหมอม้า มีความแกร่ง และเหนียวทนทาน เหมาะที่จะนำมาทอเสื่อ และตัด เย็บ โดยใช้จักรอุตสาหกรรม หรือวิธีการเย็บมือ และนำมาย้อมสี เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เบาะรองนั่ง แผ่นรองจาน ที่คลุมเก้าอี้กล่องอเนกประสงค์ เป็นต้น ชาวบ้านนาหมอม้ายังสามารถออกแบบลวดลายของเสื่อกกได้มากกว่า 200 ลาย เช่น ลวดลายสร้างสรรค์ลายภาพสัตว์ต่างๆ อาทิ ผีเสื้อ นกยูง หงส์ หรือตัวอักษรชื่อบุคคล โลโก้บริษัท รวมไปถึงการมัดย้อม มัดหมี่ ลายขอ ลายไท เป็นต้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็นอาชีพเสริมที่ทำให้ชาวบ้านมีงานทำและมีรายได้เสริมตลอดทั้งปี
เสื่อกกนาหมอม้ายังได้รับรางวัลชนะเลิศงานหัตถกรรมฝีมือของชุมชนทุกปี อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสื่อกกจากชุมชนนาหมอม้ายังได้ไปจัดแสดงในงานระดับประเทศ เช่น งานมอบรางวัลหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทางแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง พ.ศ. 2526 และการประชุมเอเปค พ.ศ. 2549 เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ทั้งนี้ กรมฯขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit