สอวช. จับมือ NIDA ปลุกปั้น Festival ไทยให้รู้จักไปทั่วโลก โดยยังคงรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ เสริมกลยุทธ์งานวิจัยและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อความยั่งยืน ยกประเพณีสงกรานต์ 67 เป็นกรณีศึกษา หลังเงินสะพัด 1.4 แสนล้าน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดตัวโครงการศึกษาเชิงนโยบายและพัฒนากลไก ด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวประเภทงานเทศกาลท้องถิ่นสู่ระดับสากล และเปิดวงเสวนาในหัวข้อ วิจัยและนวัตกรรมยกระดับ Festival ไทยสู่สากล ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายวงการที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่ ชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี บริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ณ ห้องประชุม Ballroom A โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส
ผศ.ดร.โชคชัย สุเวชวัฒนกูล หัวหน้าโครงการและอาจารย์คณะการจัดการการท่องเที่ยว NIDA กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปประยุกต์ใช้ในการจัดงานเฟสติวัลของไทย โดยการหาแนวทางหรือกลไกที่เหมาะสมเพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้มีการยกระดับงานเทศกาลท้องถิ่นที่มีศักยภาพให้ไปสู่ระดับสากล แต่ยังคงรักษาจิตวิญญาณ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ของท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และจะเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยและสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศ สนับสนุนการต่อยอดงานวิจัยในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตผลงานสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยในรูปแบบร่วมสมัยไปสู่ระดับสากล ทั้งด้าน อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น กีฬา สื่อสร้างสรรค์ และการจัดเทศกาล จึงได้ร่วมกับ NIDA ทำการศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือพัฒนากลไกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเฟสติวัลหรือเทศกาลขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่จัดงานและส่งเสริมการกระจายการท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองโดยรอบ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวของไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
"การที่ประเทศต่าง ๆ จะสามารถจัดงานเฟสติวัลหรือเทศกาลท้องถิ่น ที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมของตนให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจำเป็นต้องพิจารณาและจัดการความพร้อมของกลไกต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นอย่างรอบคอบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่อาจยังไม่เพียงพอ สำหรับการรองรับผู้คนจำนวนมาก ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการจัดการขยะ เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาถึงความพร้อมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งการประเมินและจัดการปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล่วงหน้าจะช่วยให้การจัดงานเทศกาลท้องถิ่นอย่างราบรื่นและยั่งยืนช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อท้องถิ่นและเพิ่มความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมงานได้อีกด้วย" ดร.สิริพร กล่าว
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนหน่วยงานราชการในพื้นที่ ที่มีการจัดกิจกรรมเทศกาลต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้งและต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยเฉพาะงานที่กลายเป็นภาพจำของบางแสน คืออีเวนต์งานวิ่งบางแสน การมีเฟสติวัลเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และประเทศในหลายด้านมาก เช่น เกิดมูลค่า
ทางเศรษฐกิจจำนวนมากผ่านการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่จากการใช้จ่ายในช่วงระหว่างการจัดกิจกรรม เกิดการลงทุนหรือการพัฒนาพื้นที่จัดงาน รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความรับรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้มาเยือนและคนในพื้นที่ หากพูดถึงบางแสน โดยส่วนใหญ่ความพิเศษของเทศกาลท้องถิ่นมักจะพ่วงไปกับเรื่องศาสนา อย่างงานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน ซึ่งมีการดึงเอกลักษณ์ของบางแสนออกมาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ขยับไปจัดงานอีเวนต์ระดับประเทศและระดับโลก โดยมองเห็นจากปัญหาของประชาชนในพื้นที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรค NCDs จึงทำให้เกิดกิจกรรมรณรงค์ให้คนพื้นที่ออกกำลังกาย สู่การจัดงานวิ่งระดับนานาชาติ ถือเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีสุขภาพดีและพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างลงตัว
ด้าน ดร.ปรีชาวุฒิ กี่ลิ้น ประธานที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเพราะมีเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตผู้คน ธรรมชาติ วัฒนธรรมในท้องถิ่น นำไปสู่เทศกาลงานสินค้า OTOP สู่งานเทศกาลดนตรีไทย และขยับสู่เทศกาลงานดนตรีระดับนานาชาติ โดยเฉพาะภูเก็ตเป็นหนึ่งในร้อยประเทศของโลกที่มี DJ ชื่อดังระดับโลกมาเยือน การจะทำให้เทศกาลท้องถิ่นไทยเป็นที่รู้จักระดับโลก ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นคือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ผนวกกับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ประชาชนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ขณะเดียวกันหากมีระบบการจัดการที่แข็งแกร่งก็จะขับเคลื่อนเทศกาลท้องถิ่นไทยให้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
"ภูเก็ตนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเยอะมาก เราสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ทั้งสถานบันเทิง ร้านอาหาร ที่พัก รวมถึงดึงชุมชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น มีน้อง ๆ มาร้องเพลงเปิดหมวก ถนนบางลา ที่ป่าตอง ทำให้บางคนถูกชักชวนไปเป็นนักร้องจนโด่งดังด้วยศักยภาพเขาเอง เพียงแค่เรามีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เขา ถนนบางลาจึงกลายเป็นถนนที่สื่อถึงการพัฒนาจากระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก From Local to Global ได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ป่าตองมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาจัดอีเวนต์ประเด็นสำคัญคือคำนึงถึงชุมชน ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้น และในอนาคตอยากเห็นเอนเทอร์เทนเมนต์และการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันซึ่งกำลังเป็นกระแสทั่วโลก" ดร.ปรีชาวุฒิ กล่าว
นางสาวอุมารี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการจัดอีเวนต์ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและระดับนานาชาติกล่าวว่า อยากเห็นภาครัฐมีการผลักดันและยกระดับเทศกาลท้องถิ่นสู่ระดับสากล พร้อมตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเต็มไปด้วยเทศกาลท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ หากได้รับการผลักดันจากทุกส่วน ยกตัวอย่าง เทศกาลผีตาโขน จ.เลย หากรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันงาน ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันพัฒนาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่จัดงาน การบริหารจัดการ การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดเตรียมมาตรฐานการบริการที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ เป็นต้น ในฐานะออแกไนซ์ เราสามารถช่วยส่งเสริม ถ่ายทอดเรื่องราวเทศกาลท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างความน่าสนใจ ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารต่าง ๆ การนำเสนอเรื่องราวโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เพื่อให้เข้าถึงชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้น
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า เชื่อว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีเทรนด์เหมือนกันคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่นกันเวลาไปท่องเที่ยวที่ไหนเรามักจะคาดหวังความสะดวกสบาย ไทยเราต้องไม่ตกเทรนด์และใช้เทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มากขึ้นจึงจะกลายเป็นจุดแข็ง ทำให้การท่องเที่ยวเทศกาลท้องถิ่นของไทยมีความสนุกมากขึ้น โดยเฉพาะ AI ที่กำลังกลายเป็นที่ถูกจับตามองถึงโลกอนาคต ภาครัฐ ภาคเอกชน อีเวนต์ ออแกไนเซอร์ ต้องปรับตัว ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องที่ดีคือไทยเรามีกลุ่ม Startup ด้านเทคโนโลยีเก่งและมีความหลากหลายซึ่งอาจกลายเป็นพันธมิตรกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความนิยมการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ผ่านงานเฟสติวัลหรือเทศกาลมีแนวโน้ม เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลดนตรี งานเทศกาลอาหาร หรืองานเทศกาลทางวัฒนธรรม การจัดงานเฟสติวัลหรือเทศกาลที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รายได้จากการท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 สูงถึง 1.4 แสนล้านบาท และพบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 37.54% นับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ในการนำจุดแข็งด้านประเพณี วัฒนธรรม และความได้เปรียบในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาลให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit