เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้และการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานด้านกฎหมายเพื่อกับกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นผู้ใช้ข้อกำหนดต่างๆ ตามทีกฎหมายกำหนด ภายหลังมีการสำรวจสถานการณ์การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม ประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้ข้อมูลนำมาพิจารณาร่วมกันเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคผ่านปริมาณสูงสุดที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์ (Maximum limit) โดยมีนางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นเกียรติ โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 50 คน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)
ผศ. ดร. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี หัวหน้าโครงการฯ ระบุว่า การสำรวจสถานการณ์การได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้นโยบายภาษีน้ำตาล (Sugar tax) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ส่งเสริมให้มีการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทย ขานรับแนวทางการดูแลสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกลดระดับการใช้น้ำตาลลง 10% ของพลังงานรวมทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ที่ตามมา ทั้ง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกในปัจจุบัน อีกทั้งองค์การอนามัยโลก เคยออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่าหนึ่งในสารให้ความหวาน "แอสปาร์แตม" อาจเป็น "สารก่อมะเร็ง" โดยทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ได้ออกมาชี้แจงว่า แอสปาร์แตมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2B หมายถึง พบการก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และอาจก่อมะเร็งในมนุษย์แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีความตื่นตัวที่จะลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้เป็นไปตามข้อแนะนำของ WHO และตามกฏหมายอาหารของแต่ละประเทศ เพื่อคงรสชาติหวานของผลิตภัณฑ์ ทำให้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมและมีแนวโน้มของการใช้สารให้ความหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการภาษีน้ำตาลจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษาข้อมูลการได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาล แม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้มาตรการภาษีน้ำตาล ผศ. ดร. ปรัญรัชต์ และทีมนักวิจัยของสถาบันโภชนาการ ได้มีการสำรวจข้อมูลการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนั้นพบว่า เด็กอายุระหว่าง 3-9 ปี ได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทุกชนิดสูงที่สุด แต่ปริมาณการได้รับสัมผัสของทุกกลุ่มอายุยังต่ำกว่าค่าปริมาณที่ร่างกายสามารถรับสารนั้นได้ในแต่ละวันตลอดอายุขัยโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ (Acceptable Daily Intake: ADI)
ด้วยเหตุนี้ ภายหลังมีประกาศการใช้มาตราการภาษีน้ำตาล ทีมวิจัยของสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยให้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น การทำวิจัยล่าสุด จึงได้ลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์จริง โดยเริ่มจาก 1) การสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในท้องตลาดตลาด 2) จัดทำสมุดภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษาปริมาณการบริโภค เพื่อประเมินการได้รับสัมผัสสารให้ความหวาน 3) วิเคราะห์ความเข้มข้นของสารให้ความหวานที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ และ 4) ประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสของผู้บริโภค จากงานวิจัยนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชวนให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นถึงสถานการณ์การใช้สารให้ความหวานในประเทศไทย ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับค่าปริมาณสูงสุดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่อนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (Maximum limit) หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยปัจจุบันการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ใช้เกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ซึ่งรายละเอียดที่ได้จากการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตีพิมพ์
การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ เปิดพื้นที่ชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ออกกฎหมาย ตลอดจนสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) ร่วมกันทบทวนปริมาณสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์ โดยทีมวิจัยจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เสนอ "4 สถานการณ์" (4 Scenarios) แบบจำลองที่จะใช้ทบทวนการคำนวณหาปริมาณที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค"เพราะทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อสังคม"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit