มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ สวทช. ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเผยแพร่ฐานข้อมูลพืช-ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

30 Nov 2023

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) หรือ NBT ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา เรื่อง "การพัฒนาระบบบริหารจัดการและเผยแพร่ฐานข้อมูลพืชและทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน" โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการจัดเก็บทรัพยากรทางชีวภาพที่พบในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ อาทิ ฐานข้อมูลออนไลน์ แพลตฟอร์มสารสนเทศสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเผยแพร่และเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรชีวภาพระหว่างหน่วยงาน ในการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ สวทช. ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเผยแพร่ฐานข้อมูลพืช-ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า NBT เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่สำคัญกำกับดูแลโดยไบโอเทค สวทช. มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพที่มีค่าของประเทศอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ ยกระดับการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพผ่านดูแลตัวอย่างทรัพยากรฯ แบบระยะยาว รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายอนุรักษ์ฯ เพื่อช่วยประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติเป็นแหล่งปลูกและรวบรวมพืชสมุนไพรมากกว่า 900 ชนิด ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่มากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย จาก Botanic Gardens Conservation International สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวด้านการเรียนรู้สมุนไพร พฤกษศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย

ทั้งนี้การร่วมมือกันของสองหน่วยงานจะนำไปสู่การบริหารจัดการตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพพืชและเผยแพร่ฐานข้อมูลตัวอย่างเหล่านี้ รวมไปถึงการจัดเก็บตัวอย่างพืชและทรัพยากรชีวภาพที่พบในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เพื่อการศึกษา วิจัย และพัฒนาและนวัตกรรมต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรชีวภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

"ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีและกำลังคนผู้เชี่ยวชาญด้านระบบฐานข้อมูล จะช่วยให้ระบบการบริหารจัดการและเผยแพร่ฐานข้อมูลพืชและทรัพยากรชีวภาพของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ

อย่างไรก็ดีหนึ่งในเป้าหมายหลักด้านการอนุรักษ์ฯ ของโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คือการผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรชีวภาพของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลายหลายทรัพยากรชีวภาพในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งเป็นถือเป็นจุดเด่นสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศและสร้างมูลค่าทางเศรฐกิจของประเทศจากการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

สำหรับอุทยานฯ มีพื้นที่รวม 140 ไร่ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยาระดับโลก

มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ สวทช. ร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการเผยแพร่ฐานข้อมูลพืช-ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน