อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ม.มหิดล (Siree Park) จัดกิจกรรมเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “Eco Park Eco Kids”

06 Jan 2020
"ไม่มีพืชใดไม่เป็นยา" จากคำกล่าวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า "พืชทุกชนิดมีสรรพคุณเป็นยา ไม่เว้นแม้แต่หญ้าสักต้นเดียว" เป็นที่มาของการศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยมาตราบจนถึงปัจจุบันเพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ตลอดจนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาทางสุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้ง อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยและธรรมชาติวิทยาแนวใหม่ ในพื้นที่ 140 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ที่รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาพร้อมชื่อและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงได้ถึง 892 ชนิด จัดสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด "การออกแบบเพื่อมวลชน" (Universal Design) เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ และผู้พิการด้วย โดยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยาระดับโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หรือ "อาจารย์ป๋อม" หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Siree Park) เดิมเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรไทยสำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่รู้จักกันในนาม "สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ"

ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการยกระดับโดยการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ และการพัฒนาตามแผนแม่บทแห่งชาติ ที่จะขับเคลื่อนจังหวัดนครปฐมให้เป็น "เมืองสมุนไพร" (Herbal City)

พันธกิจของ Siree Park คือ การให้บริการผ่านกระบวนการอนุรักษ์ (Conservation) ศึกษาเรียนรู้ (Education) เป็นแหล่งอ้างอิง (Reference) และถ่ายทอดงานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้ (Translational Research to Application) เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทย โดยเราได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยพืชสมุนไพรที่มีการพิสูจน์สรรพคุณและประสิทธิผลในการรักษาตามภูมิปัญญาที่มีมาแต่เก่าก่อน เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ที่มีการทดสอบกลไกการออกฤทธิ์ในร่างกาย และความเป็นพิษของสมุนไพรต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจที่จะใช้ยาสมุนไพรได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

Siree Park เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี โดยนอกจากจะได้ชมนิทรรศการถาวร "สมุนไพรภูมิปัญญาไทยสู่สากล" เพื่อเรียนรู้หลักการของการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ยังมีการจัดอบรมวิชาการและเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับสมุนไพร การขยายพันธุ์ การทำผลิตภัณฑ์และอาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยสามารถเข้าชมศึกษาสมุนไพรไทย และใกล้ชิดธรรมชาติ ดูนกที่มีมากมายหลายชนิดได้ภายในอุทยานฯ ได้ทั้งทางการเดินชม ปั่นจักรยาน และนั่งรถรางพร้อมฟังบรรยายสมุนไพรที่ได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลินไปพร้อมๆกัน

"เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ Siree Park ได้จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม 2563 ภายใต้แนวคิด "Eco Park Eco Kids" ที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า กิจกรรมภายในงานนอกจากจะประกอบด้วยการทำยาดมสมุนไพรสูตรเฉพาะหนูทำเอง การชิมน้ำสมุนไพร และนั่งรถรางชมสวนเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ในปีนี้ เรายังมีกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆเรียนรู้วิธีรักษ์สิ่งแวดล้อมรักษ์โลก ได้แก่ การทำถุงผ้ารักษ์โลก กิจกรรมเรียนรู้วิธีการแยกขยะ การละเล่นจากวัสดุธรรมชาติ และดูนกที่อยู่ภายในอุทยานฯ อีกด้วย" อาจารย์ป๋อม กล่าว

นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชพฤกษศาสตร์แล้ว อาจารย์ป๋อมยังมีความสนใจในเรื่องการดูนก โดยได้มีการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนกลายงานอดิเรกถึงปัจจุบัน ซึ่งในงานวันเด็กที่จะจัดขึ้นที่ Siree Park ในปีนี้ จะมาเป็นวิทยากรคอยแนะนำน้องๆ ที่มาร่วมงานให้รู้จักการดูนกด้วย โดยอาจารย์ป๋อมได้กล่าวถึงประโยชน์จากการทำกิจกรรมดูนกว่า นอกจากเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว ยังฝึกให้เด็กๆ มีสมาธิ และรู้จักการอดทนรอคอย ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมีเพื่อพร้อมรับกับอนาคต นอกจากนี้ในการดูนกยังได้ฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การสังเกต และจดจำลักษณะของนกที่ได้เห็น มาค้นคว้าเปรียบเทียบกับตำราทางวิชาการ จนเกิดการเรียนรู้อีกด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมวันเด็ก Siree Park จะทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้ฝึกทักษะความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในตำราเรียนเท่านั้น จากการได้ทำงานอาสาสมัครเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ ที่เข้ามาร่วมงานวันเด็ก Siree Park ซึ่งมีเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกปี จากปีแรกหนึ่งพันกว่าคน ปีต่อมาพันห้าร้อยคน คาดว่าปีนี้คงได้รับความสนใจไม่แพ้กัน โดยงานอาสาสมัครนอกจากเปิดรับจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้มาสมัครเข้าร่วมทำงานจิตอาสา เพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ อาจารย์ป๋อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนจะพัฒนา Siree Park ให้เป็น "Botanical Playground" เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์สำหรับเยาวชนอีกด้วย ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่ FB: Sireepark

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร.0-2849-6210