กทม.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่-จับมือภาคีเครือข่ายดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

27 Nov 2023

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้ดำเนินการป้องกันและดูแลสุขภาพประชาชนจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแจกหน้ากากอนามัย รณรงค์ให้ความรู้ คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชนทั่วไป และเด็กนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 และสร้างการมีส่วนร่วมการลดฝุ่นละอองผ่านช่องทางต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ พร้อมทั้งจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน 3 วัน โดยให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด

กทม.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่-จับมือภาคีเครือข่ายดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้ดำเนินการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง และแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง รวมถึงรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น ยังได้จัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชน โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. และคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม. ดังนี้ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.063 324 11216 หรือ 099 170 5879 และ รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434

กทม.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่-จับมือภาคีเครือข่ายดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5