นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 9-15 ต.ค.66 เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ประกอบกับกรมชลประทาน (ชป.) มีหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 4 ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 20-80 เซนติเมตร (ซม.) กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์และติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่น ๆ ในการเฝ้าระวัง เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
นอกจากนั้น กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนและอำนวยความสะดวก เช่น การทำสะพานทางเดินชั่วคราวช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง
ส่วนแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่แนวคันกั้นน้ำมีระดับต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเจ้าหน้าที่เรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงโดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณกลางเดือน ต.ค.นี้ โดยเรียงไว้ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางประมาณ + 2.40 ม.รทก. ถึง + 2.70 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำต่างๆ ตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันทีหากมีน้ำไหลล้น หรือรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ด้านใน ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมกระสอบทรายเปล่าที่พร้อมใช้งาน 355,000 ใบ และมีแผนการจัดซื้อกระสอบทรายเปล่าในปี 2566 ประมาณ 1,200,000 ใบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะได้กระสอบทรายเปล่าในเดือน ต.ค.นี้ รวมกระสอบทรายเปล่าที่จะใช้งานได้ทั้งหมด 1,555,000 ใบ ส่วนชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด
สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วม ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือและเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด หรือบางชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงคลื่นกระทบกับพื้นบ้านที่เกิดจากเรือวิ่งผ่าน กทม.ได้ประสานกรมเจ้าท่าตรวจสอบ กำชับ และใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน พร้อมทั้งเปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ติดริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าและสามารถเตรียมการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกับสำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขต 50 เขต ฯลฯ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์และป้องกันผลกระทบจากปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ ตามที่กรมชลประทานแจ้งเตือน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุน้ำท่วม หรือเหตุสาธารณภัยสามารถขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ผ่านสายด่วน 199 หรือสายด่วน กทม.1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit