ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นอีก 1 ตำแหน่งที่สำคัญในบริบทการเมืองไทยวันนี้ กลายเป็นสปอตไลท์ในระหว่างการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมฝั่งประชาธิปไตย หรือ กลุ่มขั้วฝ่ายค้านเดิม แม้วันนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีปมร้อนชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย จนเกิดเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดีย ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง น่าสนใจไม่น้อย ส่งผลให้ แฮชแท็ก #ประธานสภา ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพูดคุยผ่านช่องทางโซเชียลอื่นๆ อีก
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ DXT360 โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2566 พบว่า ค่า Buzz ซึ่งเป็นการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ในเรื่องประธานสภาฯ สูงถึง 16,287,997 ครั้ง โดย Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มี Buzz มากที่สุด
โซเชียลเดือด ติดแฮชแท็ก #ประธานสภา ปมเพื่อไทยขอเก้าอี้ประธานสภาฯ
ช่วงก่อนวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ โดยพรรคก้าวไกล ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงแนวทางของพรรค โดย เสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล เข้าชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนพรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันขอตำแหน่งประธานสภาฯ โดยมองว่าพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับ 2 ควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วยสูตร 14 + 1 หมายถึง ได้รัฐมนตรี 14 ตำแหน่ง บวกอีกหนึ่งคือประธานสภาฯ
กรณีนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์บนโซเชียลอย่างกว้างขวาง จนเกิดแฮชแท็ก #ประธานสภา ได้รับความสนใจในหลายช่องทางอีกครั้ง ส่งผลให้ประเด็นนี้มี Buzz ขึ้นสูงสุดในวันที่ 4 ก.ค.ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกประธานสภาฯ
ฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า ประธานสภาฯ ต้องมาจากพรรคที่ชนะโหวตเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะชนะมากกว่ากี่คะแนนเสียง ผู้ชนะคือผู้ชนะ พรรคเพื่อไทยควรยอมรับผลการตัดสินของประชาชน ส่วนฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยมีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดและผู้ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ควรจะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และบางส่วนรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของพรรค รวมถึงเป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป
ก้าวไกล-เพื่อไทย ถอยคนละก้าว จบที่ 'วันนอร์' ดันคนกลางนั่งประธานสภาฯ
สุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 3 ก.ค. 66 พร้อมเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ โดย ส.ส. ก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ ส.ส. เพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวบนโซเชียลอีกครั้ง และได้รับ Buzz สูงสุดถึง 1,574,177 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสนใจและติดตามการเลือกประธานสภาฯ อย่างใกล้ชิด
แม้ทางออกจะดูเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับทั้งสองพรรค แต่ประชาชนบางส่วนไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เนื่องจากตามสถิติ นับตั้งแต่ประธานสภาฯ คนแรก ประธานสภาฯ ล้วนมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ยกเว้นสภาฯ ชุดปี 2562 ที่มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยกโควต้านี้ให้กับนายชวน หลีกภัย ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับ 4 ในขณะนั้น (ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)
วันโหวตประธานสภาฯ 'วันนอร์' ยืนหนึ่งไร้คู่ชิง มติสภาฯ เป็นเอกฉันท์
ผลการเลือกประธานสภาฯ สรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีมติเอกฉันท์ให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยจากเสียงโซเชียลในช่วงก่อนและหลังการคัดเลือกประธานสภาฯ ที่มีต่อ 'วันนอร์' นั้นค่อนข้างแตกต่างในบางแง่มุม ในช่วงก่อนการสรุปผล เสียงจากโซเชียลบางส่วนมองว่า ถึงแม้มองที่ตัวบุคคลที่ดูเหมาะสมกับตำแหน่งแล้วในหลายด้าน แต่ยังขัดกับหลักการที่ประธานสภาฯ นั้น ควรมาจากพรรคอันดับหนึ่ง เสียงบางส่วนจึงเห็นว่าการที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแผน ไม่เสนอผู้เข้าชิงจากพรรคตน แต่เป็นจากพรรคอันดับ 3 แทนนั้น เพราะเหตุใดกันแน่?
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนร่วมแสดงความยินดีและคิดว่า นายวันมูหะมัดนอร์ เหมาะสมแล้วทั้งด้านประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ แต่บางส่วนยังคงมีความกังวล เนื่องจากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และมองว่ามีความคิดที่ขัดกับประเด็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเด็น 'ศาสนา' และ 'สมรสเท่าเทียม' อย่างไรก็ตาม วันมูหะมัดนอร์ มะทา เคยนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ มาแล้วเมื่อปี 2539 ในนามของพรรคความหวังใหม่ โดยตอนนั้นพรรคความหวังใหม่ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 125 ที่นั่ง
โซเชียลพูดคุยประเด็น #ประธานสภา พุ่ง และมี Engage ร่วมสื่อ #ข่าวช่อง3 #เรื่องเล่าเช้านี้
คำกล่าวที่ว่า 'การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน' ไม่เกินจริง เพราะตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน ประชาชนบนโซเชียลยังคงให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง Hashtag #ประธานสภา ได้รับ Buzz สูงสุดถึง 3,395,172 ครั้ง ตามด้วย #ก้าวไกล และ #เพื่อไทย สองพรรคหลักที่ถูกกล่าวถึง นอกจากนี้สื่อต่าง ๆ ได้นำเสนอข่าวการเลือกประธานสภาฯ โดยสื่อที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดบนโซเชียล คือ #ข่าวช่อง3 และ #เรื่องเล่าเช้านี้ นอกจากกระแสของพิธีกรอย่าง คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา และคุณพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ หรือ 'น้องไบรท์' วิธีการนำเสนอข่าวด้วยวิดีโอ หรือ ไลฟ์สตรีม ยิ่งทำให้ได้รับการมีส่วนร่วม (Engagement) จากผู้ชมอย่างดีอีกด้วย
บทสรุป ปมเจรจาต่อรองเรื่องเก้าอี้ #ประธานสภา จบลงด้วยดี แม้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นทางออกที่ดี เป็นไปอย่างมีเอกภาพของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งแคนดิเดต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร ? เร็วๆ นี้ คงได้รู้กัน!
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight ในประเด็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมมาจาก DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15 มิ.ย. - 5 ก.ค. 2566
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit