การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาครั้งแรก ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คนจาก 39 ประเทศ ร่วมเสวนาบทบาทของโบราณคดีที่มีต่อสังคม

18 Sep 2023
  • โบราณคดีเป็นเลนส์ที่สามารถขยายอดีตของเรา สะท้อนภาพปัจจุบันของเรา และมองอนาคตของเรา
  • การมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงมรดกตกทอดของแหล่งมรดกมากขึ้น
  • ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือในหลายประเด็นที่มีความสำคัญ มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อสังคม

ในวันเปิดการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) เหล่าผู้เข้าร่วมการประชุมได้เรียนรู้ว่าโบราณคดีมีพลังมหาศาลในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประสบการณ์ที่มนุษยชาติมีร่วมกัน ขณะที่นักโบราณคดีก็ต้องแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นและหลีกเลี่ยงอคติทางวัฒนธรรม

การประชุมสุดยอดซึ่งจัดขึ้นโดยราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 300 คน จาก 39 ประเทศ มาที่เมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมอภิปรายเป็นเวลาสองวันในประเด็นที่หลากหลายเกี่ยวกับบทบาทของโบราณคดีในการพิทักษ์มรดก อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อสังคม

"นักโบราณคดีควรตระหนักถึงอัตลักษณ์ของตนเอง เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ของสถานที่ที่ทำการขุดค้นหรือศึกษา" ดร.คาเลด เมลลิติ (Khaled Melliti) นักประวัติศาสตร์และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของฝรั่งเศส (CNRS) กล่าวในระหว่างการอภิปรายแบบคณะ

ศาสตราจารย์ เอมานูเอล ปาปิ (Emanuelle Papi) ผู้อำนวยการวิทยาลัยโบราณคดีอิตาลีแห่งกรุงเอเธนส์ (Italian School of Archaeology at Athens) กล่าวเสริมว่า "โบราณคดีทุกยุคสมัย คือโบราณคดีร่วมสมัย ผู้คนต่างมองอดีตด้วยมุมมองของยุคสมัยตนเอง"

เขายกตัวอย่างว่า ในยุคสมัยหนึ่งของอิตาลี ความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมันเคยเป็นรากฐานสำคัญที่กำหนดอัตลักษณ์ของชาติ แต่ในการขุดค้นซากปรักหักพังยุคโรมัน นักโบราณคดีสมัยนั้นกลับไม่แยแสโบราณวัตถุจากยุคกลาง ยุคไบแซนไทน์ และยุคเรอเนซองส์

ในทำนองเดียวกัน ดร.คาเลด เมลลิติ กล่าวเสริมว่า นับตั้งแต่ที่ตูนิเซียหวนคืนสู่การปกครองโดยประชาชน หลังการปฏิวัติในปี 2553-2554 มุมมองต่อมรดกทางโบราณคดีของประเทศก็เปลี่ยนไป โดยหลังจากการปฏิวัติสิ้นสุดลง เขากล่าวว่า "เราได้ค้นพบหลักฐานการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐใต้ผืนแผ่นดินตูนิเซีย"

ข้อความเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่ต้องการจุดประกายบทสนทนาใหม่ ๆ ที่ไปไกลกว่ากรอบความคิดของผู้เชี่ยวชาญ และเดินตามเส้นทางที่เชื่อมโยงโบราณคดีกับชุมชนในวงกว้างขึ้น

อันที่จริงแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับชุมชนในท้องถิ่น ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งสำหรับนักโบราณคดีในการป้องกันไม่ให้มุมมองของตนเองบดบังมรดกตกทอดจากอดีต

ยกตัวอย่างเช่น คุณลูซี เซมานน์ (Lucy Semaan) หัวหน้านักโบราณคดีทางทะเลจากมูลนิธิ ออเนอร์ ฟรอสต์ ฟาวน์เดชัน (Honor Frost Foundation) ที่ปฏิบัติงานในเลบานอน เปิดเผยว่า เวลาปฏิการสำรวจใต้น้ำ เธอจะพูดคุยกับชาวประมงในท้องถิ่นเพื่อสอบถามว่าตกปลาตรงไหน และเรียกพื้นที่ต่าง ๆ ในทะเลว่าอะไร ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน

ด้านศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ฮอยแลนด์ (Robert Hoyland) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุคโบราณตอนปลายและยุคอิสลามตอนต้น ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้บอกเล่าถึงการสำรวจครั้งแรกในฐานะนักโบราณคดีในซีเรีย โดยมีครั้งหนึ่งเขาเดินเข้าไปในร้านค้าและบอกเจ้าของร้านว่า เขากำลังขุดค้นเมืองโรมัน แต่เธอบอกว่า "ไม่ใช่ คุณกำลังขุดค้นเมืองอาหรับในยุคโรมันต่างหาก"

ทั้งนี้ ก่อนที่การเสวนาจะเริ่มขึ้น คุณอาเมอร์ อัลมาดานี (Amr AlMadani) ซีอีโอของราชกรรมาธิการอัลอูลา ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสู่เมืองอัลอูลา โดยเขาพูดสลับไปมาระหว่างภาษาอาหรับกับภาษาอังกฤษว่า การที่ราชกรรมาธิการอัลอูลายึดมั่นในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือเป็นประโยชน์ต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม

"เราไม่ได้อาศัยแหล่งมรดกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เราอาศัยนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาแหล่งมรดกเอาไว้" เขากล่าว

สำหรับการประชุมสุดยอดวันที่สองมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความสามารถในการฟื้นฟูและการเข้าถึง เพื่อเสริมประเด็นที่มีการเสวนากันในวันแรกซึ่งเน้นไปที่อัตลักษณ์และแหล่งโบราณคดี

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดได้เข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์กลางแจ้งท่ามกลางสวนปาล์มในโอเอซิสโบราณแห่งดาอีมูมะห์ (Daimumah) ในโอกาสนี้ คุณเลวิสัน วูด (Levison Wood) นักเขียนและนักผจญภัย ได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางสำรวจและสืบสานมรดกของนักสำรวจและผู้บุกเบิกในยุคก่อน ๆ เช่น อิบน์ บะฏูเฏาะฮ์ (Ibn Battuta), เกอร์ทรูด เบลล์ (Gertrude Bell) และลอเรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia)

การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา 

สถานะของอัลอูลาในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางโบราณคดีจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น เนื่องจากราชกรรมาธิการอัลอูลาได้จัดการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566 

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนาโบราณคดีและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ โดยรวบรวมผู้นำจากภาควิชาการ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และนักโบราณคดีรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับชุมชนโบราณคดีและช่วยปกป้องประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มองเห็นว่าโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมในภาพรวม สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไรและเช่นไร 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้ที่ https://www.worldarchaeologysummit.com

ข้อมูลติดต่อ

สื่อมวลชนกระณาติดต่อ [email protected] 

เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา 

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ติดต่อ: จินิธ จอย (Jinith Joy) อีเมล: [email protected] โทร: +971 50 721 9369

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2211286/Day_1.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2211288/Day_1_Summit.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2211289/AlUla_Summit.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2211290/World_Archaeology_Summit.jpg