บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
การประกาศคงอันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA Net Leverage) ของ EPG ได้ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราว ภายหลังการเข้าซื้อกิจการ 4 Way Suspension Products Pty. Ltd. (4WS) ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ฟิทช์ประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่ากำไรในปีงบการเงิน 2566 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566) จะอ่อนแอลงชั่วคราวก็ตาม ทั้งนี้อันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้ถูกจำกัดจากขนาดธุรกิจที่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวดีขึ้น: EBITDA Net Leverage ของ EPG มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นและจะลดลงต่ำกว่า 1.0 เท่าในปีงบการเงิน 2568-2571 จากระดับ 1.3 เท่าในปีงบการเงิน 2566 บริษัทฯ ไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำลังการผลิตปัจจุบันยังสามารถรองรับการเติบโตของบริษัทฯ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้ ฟิทช์ไม่คาดว่าบริษัทฯจะทำการซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า EPG จะให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าจากการเข้าซื้อกิจการ 4WS ผ่านการส่งเสริมและรับประโยชน์ร่วมกัน (synergies) กับธุรกิจเดิมของบริษัทฯ ดังนั้นฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผล (Free cash flow) ที่เป็นบวกในช่วงปีงบการเงิน 2567-2571
ยอดขายจะเติบโต: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ EPG จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า (ปีงบการเงิน 2566 เติบโตร้อยละ 3) เนื่องจากการรวมงบการเงินแบบเต็มปีงบการเงินของ 4WS ยอดขายในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีการเติบโตที่ช้าลงชั่วคราวในช่วงไตรมาแรกของปีงบการเงิน 2567 เนื่องจากความล่าช้าในการส่งมอบยานยนต์เข้าสู่ตลาดในประเทศออสเตรเลีย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่แย่ลง จากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดหลังจากสถาณการณ์โรคระบาด
อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ายอดขายจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบการเงิน 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) มีแนวโน้มคลี่คลายลง การวางจำหน่ายรถยนต์กะบะรุ่นใหม่ของผู้ผลิตรถยนต์รายหลัก และความต้องการผลิตภัณฑ์ฉนวนยางกันความร้อน/เย็นจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ และยานยนต์ไฟฟ้า จะช่วยสนับสนุนให้ยอดขายเติบโต
การทำกำไรจะฟื้นตัว: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของบริษัทฯจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากแนวโน้มราคาวัตถุดิบที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง การประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ตามปริมาณการขายที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตของ EPG ในประเทศสหรัฐฯ และสมมุติฐานของฟิทช์ว่าบริษัทฯจะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมและรับประโยชน์ร่วมกันกับกิจการของ 4WS ฟิทช์คาดว่า EBITDA margin ของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 14 ในปีงบการเงิน 2567 (ปีงบการเงิน 2566: ร้อยละ 15 ปีงบการเงิน 2563-2565: ร้อยละ 16-18) เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากค่าในการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรงงานในประเทศสหรัฐฯ และ โรงงาน 4WS ในประเทศออสเตรเลีย
ความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และธุรกิจปลายทาง: EPG มีผลิตภัณฑ์ที่กระจายตัวไปในหลายธุรกิจ ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจรถยนต์และธุรกิจก่อสร้าง และอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ต่ำและการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยธุรกิจของ EPG ได้ส่งเสริมและรับประโยชน์ร่วมกัน จากการจัดหาวัตถุดิบ และการวิจัยและการพัฒนา การลงทุนของ EPG ใน 4WS จะช่วยขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์ จากปัจจุบันที่ผลิตผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์จากโพลีเมอร์
ฐานลูกค้าที่กระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ: EPG ขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ ประมาณร้อยละ 50-60 ให้กับผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer) และผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ในส่วนที่เหลือขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถในประเทศและต่างประเทศ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯเอง สำหรับธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น รายได้ประมาณร้อยละ 25 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้กับโครงการก่อสร้าง โดยมีโรงงานผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นหลัก ในประเทศไทย และประเทศสหรัฐฯ สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร รายได้ประมาณร้อยละ 90 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายในประเทศเป็นการขายให้กับบริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำ
ความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวน: EPG มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบหลักได้แก่ สารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40-50 ของต้นทุนสินค้าที่ขาย ราคาสารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติกเหล่านี้ ก็จะผันผวนตามราคาปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบ โดยราคาปิโตรเคมีดังกล่าวมักจะขึ้นลงตามราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบที่มากอาจจะทำให้อัตราส่วนกำไรและรายได้ของบริษัทฯ ลดลงอย่างมากได้ในระยะสั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ในอดีต EPG สามารถจะปรับราคาขายขึ้นหลังจากราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เดือน เนื่องจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก และธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น มีคู่แข่งอยู่ไม่มากนัก ส่วนธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก EPG สามารถปรับราคาขายได้เร็วกว่าสำหรับลูกค้าปลีก
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
EPG มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า EPG ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก คล้ายกับ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต โดยมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่าซึ่งช่วยลดทอนขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ทั้งสองบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ
สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ EPG มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกวัดจากรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA margin ที่ดีกว่า ทั้งนี้ทั้งสองบริษัท มีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
EPG ถูกจัดอันดับสูงกว่า บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เนื่องจาก EPG มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า EPG มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า และดำเนินธุรกิจในหลากหลายภูมิภาคกว่า เมื่อเทียบกับ BAFS ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และการบริการเติมน้ำมันอากาศยานที่สนามบินหลักในประเทศไทยเท่านั้น
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
ปัจจัยลบ:
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทฯ มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือน อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 84 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินสำหรับเงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงินถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินที่สามารถยกเลิกได้ ประมาณ 4.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2566 ฟิทช์เชื่อว่าสภาพคล่องของบริษัทฯจะได้รับการสนับสนุนโดยการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารในประเทศที่เพียงพอ เนื่องจากบริษัทฯมีผลการดำเนินงานและอันดับเครดิตที่ดี
ข้อมูลของบริษัท
EPG เป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น มีสัดส่วนยอดขายประมาณร้อยละ 49 และร้อยละ 30 ตามลำดับของยอดขายรวมในปีงบการเงิน 2566 โดยยอดขายส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit