กรมชลประทาน เปิดเวทีเสวนา 'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็นโครงการผันน้ำยวมหวังเป็นเวทีกลางเปิดกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ จากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากสาขา ตัวแทนจากภาคเกษตรกร พร้อมเปิด การถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถร่วมรับชมได้อย่างทั่วถึง
กรมชลประทาน จัดงานเสวนา 'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำ ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็น เวทีกลางในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าจะสามารถช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างไร รวมทั้งยังเป็นเวทีในการรับฟัง ความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมทั้งได้มีการตอบข้อห่วงกังวลต่างๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง โดยมีการ ถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ให้ประชาชน สามารถร่วมรับชมได้อย่างทั่วถึง
โดยในเวทีเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนภาคเกษตรกรมาร่วม ให้ความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมอง เกี่ยวกับโครงการนี้ ได้แก่ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต, รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.ดร. เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร, คุณพรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายศรชัย สิบหย่อม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่า มีการคาดการว่าอีก 3 - 4 ปีข้างหน้าจะเกิดวิกฤตภัยแล้งต่อเนื่องหลายปี แล้วมี โอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงการผันน้ำยวม ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางรับมือจัดการ แต่สุดท้ายต้องกลับมาดูว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากโครงการดังกล่าว ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้คุ้มค่า กับการลงทุนมากที่สุด เราต้องมีมาตรการที่จะรองรับความผันผวน ของสภาพภูมิอากาศในอนาคต และจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้โครงการผันน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
คุณพรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยว่า เฉลี่ยในแต่ละปี มีการเก็บกักน้ำ ได้ประมาณ 8.2 หมื่นล้าน ลบ. ม. หรือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในแต่ละปี แต่ความต้องการ ใช้น้ำจริงมีมากกว่านั้น ทำให้มีการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการน้ำ ในช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหลายปี โดยการ ผันน้ำข้ามลุ่มเป็นอีกนโยบายที่จะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านน้ำ
รศ.ดร. บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ได้รับรางวัล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564 จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้เขื่อนภูมิพล มีการผันน้ำ อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของน้ำท่า ไม่ทำให้สมดุลของน้ำเสีย แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความคุ้มค่าของต้นทุนน้ำที่ผันโดยเฉพาะกับภาคการเกษตรที่ต้องปรับวิธีทำการเกษตรใหม่เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าสูงขึ้น
นายศรชัย สิบหย่อม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกร ได้มีการปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมไปตามปริมาณน้ำที่ทางกรมชลประทานแจกจ่ายมาในแต่ละปี เลยมี ความคาดหวังว่าเมื่อโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จจะช่วยให้ปริมาณน้ำสำหรับทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าโครงการนี้จะมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมมากมาย แต่เนื่องจาก เป็นโครงการขนาดใหญ่จึงมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทุกด้าน แต่ยังมีประชาชน ในพื้นที่บางส่วนได้รับผลกระทบ จากโครงการนี้ ซึ่งยังคงมีข้อห่วงกังวลในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการชดเชย ให้กับประชาชน ที่สูญเสียที่ดินทำกิน ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่โครงการ ความคุ้มค่าในการลงทุนไปจนถึงความโปร่งใสในเรื่อง การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ
รศ.ดร. เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงข้อกังวลต่าง ๆ ว่า ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ชดเชยกรณีที่ดิน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ในโครงการลักษณะใกล้เคียงกับโครงการผันน้ำยวม จึงไม่แน่ใจว่าอาจมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ทำให้คน ในพื้นที่เกิดความเข้าใจผิด ส่วนในเรื่องผลกระทบกับทรัพยากรทางน้ำนั้น ทางกรมชลประทาน ได้มี มาตรการต่าง ๆ มารองรับทั้งการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นร่วมกับกรมประมง และมีการทำทางผ่านปลา ที่ออกแบบให้ปลาเล็ก และปลาใหญ่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก
ร.ต.สงัด สมฤทธิ์ ผู้ประสานงานสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กรมชลประทาน ได้เสริมในเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่โครงการจะได้รับว่าจากการสำรวจของ กรมชลประทาน ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุโมงค์ผันน้ำ และอ่างเก็บน้ำยวม ซึ่งจะได้รับประโยชน์
จากการปรับพื้นที่ทิ้งกองวัสดุให้คนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งจะได้รับประโยชน์ร่วมกับการพัฒนา โครงการทั้งในเรื่องถนนและระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เรื่อง การอนุรักษ์แหล่งน้ำเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทางด้าน นายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้เชี่ยวด้านการวางโครงการ/บริหารจัดการน้ำ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้พูดถึงประเด็นข้อกังวล ในเรื่องจะมีการ เก็บค่าใช้น้ำ จากต้นทุนน้ำ ที่เพิ่มขึ้นหากโครงการแล้วเสร็จว่า โครงการผันน้ำยวมเป็นการผันน้ำมาพื้นที่เศรษฐกิจ ของประเทศที่มีการ พัฒนาระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ทำให้ต้นทุนน้ำที่ผันมาต่ำและมีประสิทธิภาพ มีการใช้น้ำหมุนเวียนหลายครั้ง นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็น สวัสดิการที่ทำเพื่อประชาชน ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุน เกษตรกรได้มีน้ำ สำหรับการทำเกษตรกรรม และจะไม่มีการเก็บค่าน้ำเพื่อเกษตรกรรม แต่จะไปเก็บค่าใช้น้ำจาก หน่วยงานที่ได้นำน้ำไปจำหน่าย หรือหาประโยชน์แทน
ดร.กนก คติการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร จาก บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลในเรื่องความคุ้มค่าของโครงการผันน้ำยวมว่าต้องมองในหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่ โครงการนี้เป็นโอกาสของประเทศไทยถ้ามีการนำพืชที่มีมูลค่าสูงมาเพาะปลูกในพื้นที่เพิ่มเติมในเรื่องการเสีย โอกาสอาจเกิดขึ้นหากในอนาคต เกิดวิกฤตภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องหลายปีทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ใน ช่วงนั้น และความเสถียรของระบบ ชลประทานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะทำการเพาะปลูก
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันน้ำยวม มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยา แก้ไขและบรรเทา ปัญหา การขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลในปัจจุบันและอนาคต สนับสนุน การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยสามารถผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้เฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรได้มากกว่า 17,431 ล้านบาทต่อปี
รวมทั้งยังสร้างประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมอีกมากมาย ได้แก่ 1.การเพิ่มพื้นที่ในการทำการเกษตร ในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ แบ่งเป็น กำแพงเพชร 286,782 ไร่ และเจ้าพระยาใหญ่ 1,323,244 ไร่ 2. การผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง ลดค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาน้ำเค็ม 3. เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วย/ปี และผลิตพลังงานไฟฟ้าท้ายเขื่อนน้ำยวมได้อีก 46.02 ล้านหน่วย/ปี 4. สร้างอาชีพการทำประมงในอ่างเก็บน้ำ มีการเพาะพันธุ์ปลาและปล่อยปลา ให้ประชาชน ในพื้นที่จับปลาไปบริโภคและสร้างรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และ 5. ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ขยาย ระยะเวลาการท่องเที่ยวในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่า ซึ่งปัจจุบันสามารถประกอบ กิจการ แพท่องเที่ยว เฉพาะในเดือนที่มีน้ำเท่านั้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - มกราคม แต่เมื่อมีการผันน้ำจะส่งผลให้ สามารถประกอบ กิจการได้ตลอดทั้งปี ขณะที่บริเวณเขื่อนน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดย รอบ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจทั้งในส่วนของชุมชนและนักท่องเที่ยว
สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนา 'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำยวม ย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook official page : กรมชลประทาน
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit