บมจ.เคหะสุขประชา ชูกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA รักษาฐานข้อมูล พร้อมเร่งให้ข้อมูลข่าวสารแก่ลูกบ้านในโครงการ เคหะสุขประชา ตลอดจนบุคลากรในองค์กร ให้เข้าใจเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าเกิดผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำ และปรับ สูงสุดกว่า 5 ล้านบาท
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และในฐานะที่ปรึกษา บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) หรือ K-HA เปิดเผยว่า จะครบ 1 ปี ในการประกาศใช้ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA โดยได้มีการขับเคลื่อนการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติฯ นี้ ไปแล้ว 21 ฉบับ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนในสังคมไทย รวมถึงนานาอารยประเทศเกิดความเชื่อมั่น และยอมรับในมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่ผ่านมา มีการผ่อนผันและไม่มีการลงโทษ แต่ขณะนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายขึ้น 2 คณะ ซึ่งคณะกรรมการกำกับจะเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน และจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายตีความ ขณะเดียวกันเราก็มีการประสานกับหน่วยงานไซเบอร์แห่งชาติว่า ข้อมูลที่มีการรั่วไหลไป เราจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งในแง่ของ พรบ. จะออกมาเป็นกฎหมายลูก และเป็นคำสั่งต่อไป
สำหรับประเด็นการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ต้องมีการรวบรวมข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน ถ้าเกิดข้อมูลรั่วไหลจากพนักงานในระดับล่าง ตัวประธานบริษัท หรือผู้บริหารระดับสูงต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น เราจึงได้เตรียมจัดเทรนนิ่งในองค์กรต่าง ๆ หรือบริษัท ที่จะรับจัดเทรนนิ่งในการทำหลักสูตร และสอบใบอนุญาต รวมถึงการขึ้นทะเบียนบริษัทเอกชนที่รับเทรนนิ่ง ให้ทราบถึงข้อมูลในการคุ้มครองส่วนบุคคลเป็นอย่างไรตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงปีหน้า
ในส่วนของ "เคหะสุขประชา" มีฐานข้อมูลของลูกบ้านที่อยู่ในโครงการฯ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นพนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้บริหารของเคหะสุขประชาต้องมีความเข้าใจ และนำไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง ตัวระบบกฎหมายจะช่วยคุ้มครอง ขั้นแรกคือเจ้าหน้าที่พนักงานก่อน และเราก็จะสามารถเข้าไปถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง
"ขณะนี้ที่เกิดข่าวว่า มีการขายข้อมูล หรือข้อมูลรั่วไหลออกไป รัฐจะต้องเข้าไปช่วยดูแล โดยเฉพาะคนที่เก็บข้อมูลไว้อย่านิ่งนอนใจว่าข้อมูลจะไม่รั่วไหล ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยมีบทลงโทษที่หนักมาก ทั้งจำคุก 1 ปีขึ้นไป และปรับสูงสุดกว่า 5 ล้านบาท ฉะนั้นข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นทรัพย์สินของประชาชน และตัวเอง ซึ่งถ้าเกิดปัญหาประชาชนสามารถร้องเรียนได้" นายเขมทัตต์ กล่าวสรุปในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit