มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดเสวนาทางวิชาการ "ศิลปาชีพ : แนวคิดล้ำสมัย ด้านความมั่นคงของมนุษย์" ในงานนิทรรศการ "เพียรสาน...งานศิลป์" โดยมีท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แขกผู้มีเกียรติและประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บรรยาย ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน
ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สามารถอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านงานศิลปาชีพ ด้วยมาตรวัด ๔ ประการที่พระองค์ทรงมี ได้แก่ ๑. วิสัยทัศน์ในการมองสังคม มีความเข้าใจที่ล้ำยุคล้ำสมัย มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ๒. มองเห็นโอกาสในที่ที่ดูเหมือนไร้โอกาส ๓. สร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่มีคุณค่า และ ๔. สร้างความยั่งยืนในสิ่งที่ได้สร้างขึ้นมา โดยเห็นได้จากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ ที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อต่อสู้กับความยากจนของราษฎร นับเป็น ๑๘ ปี ก่อนเกิดโครงการ United Nations Development Programme หรือ UNDP ของสหประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ขจัดปัญหาความยากจน
"ในยุคที่พระองค์เสด็จออกไปเยี่ยมเยียนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ทำให้พบว่ารายได้ของประชาชนภาคใต้ต่อคนต่อปีอยู่ที่ ๓,๖๘๔ บาท ภาคกลาง ๒,๘๐๘ บาท แต่ถ้าเป็นภาคอีสานรายได้ไม่ถึง ๑ ใน ๓ คือ ๙๕๔ บาท ทำให้พระองค์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำสงครามกับความยากจน ต้องยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ หาทางให้พสกนิกรของพระองค์มีรายได้เสริมเพิ่มเติมจากรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด และด้วยสายพระเนตรอันแหลมคมที่ทรงเห็นว่าคนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมือทุกคน ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ จึงได้เริ่มศึกษาเก็บข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงความรู้ความสามารถของราษฎรว่าเป็นอย่างไร โดยใช้เวลาแรมปีในการเก็บข้อมูลดังกล่าว จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของศิลปาชีพ ที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการสืบสาน ด้วยการเปิดโรงเรียนฝึกหัดงานหัตถกรรมแขนงต่าง ๆ ในสวนจิตรลดา โดยเลือกครอบครัวของผู้คนที่ยากจนและทรงดูแลค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟค่ากินอยู่ให้หมด ขอเพียงให้มาอยู่ที่นี่แล้วก็มาศึกษาและฝึกฝนงานหัตถกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับคุณค่า ยกระดับงานสู่มาตรฐานที่ตลาดพร้อมจะรับซื้อ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระราชกรณียกิจสำคัญไม่ได้เป็นเรื่องการอนุรักษ์แต่เป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่าและถ้ามูลค่านั้นถูกเพิ่มการอนุรักษ์ก็จะตามมา"
ทั้งนี้ งานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มมาเกือบครึ่งศตวรรษ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยั่งยืน ที่ไม่ได้วัดกันที่อายุของมูลนิธิฯ แต่เป็นการเติบโตของงานหัตถกรรมที่ขยายออกไปมากกว่า 30 แขนงงาน สามารถสร้างคน สร้างครูที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้เกิดการสืบสาน เผยแพร่ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนและเมื่อประกอบกันทั้งหมดแล้วทำให้เห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นเจ้านายที่มีอัจฉริยภาพอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
สำหรับการเสวนาทางวิชาการในงานนิทรรศการ "เพียรสาน...งานศิลป์" ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในหัวข้อ "จักสานไทยก้าวไกลในตลาดโลก" บรรยายโดย ดร.กรกต อารมณ์ดี ศิลปินศิลปาธร สาขาออกแบบ พ.ศ. ๒๕๖๐ และเจ้าของแบรนด์ KORAKOT ดำเนินรายการโดย นางปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการด้านสื่อสาร ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมกลุ่มทรู ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ -๑๕.๓๐ น. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐๒-๒๘๑-๕๓๖๐-๑
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit