ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวาระสำคัญ เช่น การติดตามประเมินผลว่าตรงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ และอาจตั้ง "ทีมไทยแลนด์" เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ ต้องเห็นภาพเชิงระบบของประเด็นที่ขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง ทั้งการประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน ความก้าวหน้าและความต่อเนื่องของการดำเนินงาน ความต้องการลงทุนร่วมของภาคเอกชน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาอนุมัติการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากลแข่งขันได้ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรองรับระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน ในแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งทำงานเพื่อปิดช่องว่างในการสร้างคนและเครือข่าย รวมถึงการนำความรู้เทคโนโลยีต่างประเทศมาใช้หรือการถ่ายทอดและต่อยอดเทคโนโลยีที่จะต้องทำงานแบบทีมไทยแลนด์เช่นกัน พร้อมทั้งอาจต้องพิจารณาการสร้างกำลังคนในภาคอุดมศึกษาที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อาจต้องพิจารณาสนับสนุนการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ในเชิงลึกควบคู่กันไปกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ที่รับผิดชอบด้านการผลิตกำลังคนในระดับอุดมศึกษา โดยอาจปรับเปลี่ยนหลักสูตรในระบบวิศวกรรมให้ตอบโจทย์เชิงประเด็นมากขึ้น เช่น วิศวกรรมไฟฟ้าระบบราง ฟิสิกส์ระบบราง และสาขาที่ขาดแคลนอื่น ๆ ซึ่งจะต้องกระจายให้เห็นภาพรวมและทันต่อความต้องการกำลังคนของประเทศ
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สนับสนุนงประมาณเพิ่มเติมแผนงานย่อยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคตฯ เพื่อการประยุกต์ใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศด้านภูมิสารสนเทศ และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต เพื่อสนับสนุนโครงการการออกแบบและสร้างเพย์โหลดสำหรับการทดลองผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเงิน 23.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซ่ากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อต่อยอดร่วมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในด้านระบบโลกและอวกาศ โดย กสว.ให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ อิสระในการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้อง การต่อยอดสู่อุตสาหกรรม การทดแทนการนำเข้า นักวิจัยต้องคิดกระบวนการและหาความร่วมมือตั้งแต่ต้น เพื่อจะได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ เน้นผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ เนื่องจากเป็นงานสำคัญระดับประเทศและระดับโลก
ส่วนความคืบหน้าหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน.ของประเทศ ปี 2567 จำนวน 3.11 หมี่นล้านบาท ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมถึงผลักดันและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ที่ประชุมเห็นควรให้เร่งตั้งเป้างบประมาณด้าน ววน. เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ภายในปี 2570 แต่ขอให้สำรวจตัวเลขสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและมีความแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันมการรายงานว่าเอกชนลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 80 และภาครัฐลงทุนร้อยละ 20 ทั้งนี้ วิธีการได้มาซึ่งตัวเลขสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนจะต้องมีกลไกหรือระบบการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและมีการติดตามที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
นอกจากนี้ กสว. ยังได้รับทราบการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สกสว. และธนาคารโลก ว่าด้วยการวิเคราะห์และพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของไทย โดยธนาคารโลกจะนำเครื่องมือ Policy Effectiveness Review (PER) มาใช้ในการวิเคราะห์ และเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะในการปรับนโยบายของ กสว. ให้มีความเหมาะสมต่อไป โดย สกสว.จะทำความร่วมมือระยะยาว 5 ปี ทั้งเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ รวมถึงความเหมาะสมในการใช้ ววน. ในกิจการของภาคเอกชน การวิเคราะห์ความต้องการและมิติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับววน. ในกระทรวงอื่น ๆ อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit