สทนช. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีปิดโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกาศความสำเร็จความร่วมมือต่อสู้ภาวะโลกรวนเพื่อการจัดการน้ำยั่งยืน
วันที่ 8 ธ.ค.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานในงานเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานและพิธีปิดโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย - เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Water) โดยมี นายฮานส์ อูลริช ซูดเบต อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของสถานทูตเยอรมัน ประจำกรุงเทพฯ นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย นายไฮนริค กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการการดำเนินงานด้านการจัดการน้ำ แผนงานความร่วมมือ ไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ GIZ รวมทั้ง นายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สทนช. ผู้แทนจากลุ่มน้ำสะแกกรัง ผู้แทนจากลุ่มน้ำยม ผู้แทนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจังหวัดแพร่ และอุทัยธานี สถาบันการศึกษา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ GIZ ในความร่วมมือทางวิชาการตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการฯ โดยมี สทนช. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการฯ ได้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ รวมทั้งการนำการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EbA) มาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ โดยมีการดำเนินการในพื้นที่นำร่องลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสะแกกรัง เน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ การสร้างวิทยากรตัวคูณที่สามารถเป็นแม่แบบการพัฒนาแผนแม่บทลุ่มน้ำที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประยุกต์ใช้ EbA ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมทั้งการติดตามและประเมินผล และการขับเคลื่อนและสนับสนุนกลไกทางการเงิน ด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 น้ำและสุขอนามัย และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมาย "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งโครงการฯ ที่ดำเนินงานร่วมกันนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส ที่กำหนดให้มาตรการการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ เป็นมาตรการสำคัญในการปรับตัวเพื่อให้บรรลุถึงความมั่นคงทางด้านน้ำ การลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการจัดการสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
ด้าน นายฮานส์ อูลริช ซูดเบต อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจของสถานทูตเยอรมัน ประจำกรุงเทพฯ ซึ่งได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ได้แสดงให้เห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโลก แต่ละประเทศไม่สามารถดำเนินงานและปรับตัวต่อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าท้ายแบบต่างคนต่างทำได้ ประเทศไทยและเยอรมนีเป็นพันธมิตรที่ดีในการดำเนินงานพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนานถึง 160 ปี โดยตั้งแต่ปี 2551 แผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศสากล (International Climate Initiative: IKI) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมากมาย มูลค่ารวมเกือบ 2 พันล้านบาท และโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความสำเร็จนี้
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย ได้แสดงความชื่นชมความมุ่งมั่นของการทำงานร่วมกันของภาคส่วนน้ำ ซึ่งเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการน้ำฯ ก่อให้เกิดเครื่องมือ เครือข่าย องค์ความรู้ และยกระดับการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ และการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ และความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งระดับประเทศและภูมิภาคในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการปาฐกถาพิเศษ โดย นายไฮนริค กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการการดำเนินงานด้านการจัดการน้ำ แผนงานความร่วมมือ ไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ GIZ ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "เหลียวหลัง แลหน้า การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" และนายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สทนช. กล่าวในประเด็น "แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สู่การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน" อีกทั้งยังมีนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินการและความสำเร็จที่ผ่านมากับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 10 หน่วยงาน รวมทั้งการเปิดเวทีเสวนาในประเด็น "ความท้าทายการจัดการน้ำในภาวะโลกรวน" โดยมีผู้แทนจากลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำยม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ร่วมเวทีเสวนาอีกด้วย
ทั้งนี้ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถือเป็นต้นแบบที่ดีในการตั้งเป้าหมายและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง อีกทั้งยังคงให้การสนับสนุนด้านการเงิน องค์ความรู้ และเทคนิควิชาการ ให้กับประเทศกำลังพัฒนาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ตามความตกลงปารีสมาโดยตลอด รวมถึงประเทศไทยที่ได้รับความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตลอด และยังมีอีกหลายโครงการเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในอนาคตด้วย สำหรับโครงการดำเนินงานด้านนโยบายภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการจัดการน้ำ (TGCP-Water) เป็น 1 ใน 5 ด้านความร่วมมือ (พลังงาน การจัดการขยะ การเกษตร การจัดการน้ำ และการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบาย) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565)
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit