(จากซ้าย) นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย นายกฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ไทย ไรซ์ นามา) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) พร้อมเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยเข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน ชูมาตรการทางการเงิน "คน-ละ-ครึ่ง" ช่วยเหลือเกษตรกรเข้าถึงการปรับระดับพื้นที่นา ด้วยระบบเลเซอร์ และการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตข้าวของไทย
ผู้แทนจากโครงการฯ พร้อมด้วยผู้บริหารจาก ธ.ก.ส. และ GIZ ลงนามข้อตกลงร่วมกันที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคนิคการทำนาลดโลกร้อน อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย
การทำนาข้าวเป็นกิจกรรมการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า การขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าว แบบใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่า ธ.ก.ส. มีแนวคิดที่ต้องการให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตข้าวแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ข้าวมีคุณภาพมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นรวมทั้งช่วยลดโลกร้อน ด้วยการเสนอมาตรการสนับสนุนทางการเงิน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
แพ็กเกจ 1 สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถเลือกสมัคร หากได้รับการอนุมัติ จะได้รับเงินอุดหนุน 50% พร้อมกับ เงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อไร่
โปร 2 สำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตร เพื่อจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling: LLL) โดยให้ เงินอุดหนุนถึง 50% ของราคาชุดอุปกรณ์แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นผู้ให้บริการปรับ LLL ยังสามารถขอรับการอบรมที่โครงการฯ จัดให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
"มาตรการสนับสนุน คนละครึ่ง เพื่อการเกษตรชุดนี้ จะช่วยให้ทั้งเกษตรกรและผู้ให้บริการทางการเกษตร ผู้เป็นกำลังหลักใน การขับเคลื่อนภาคการผลิตข้าวของไทยสามารถผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่มีความสำคัญและ จำเป็นยิ่งในการทำนาวิถีใหม่เพื่อลดโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" นายพงษ์พันธ์กล่าว
โครงการไทย ไรซ์ นามา มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และได้รับงบประมาณ สนับสนุนจาก NAMA Facility ภายใต้การดำเนินงานโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมการข้าว องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ตลาดข้าวที่ยั่งยืนและจัดตั้งระบบเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีแก่เกษตรกร พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตและการทำนาลดโลกร้อน ตามมาตรการ '3 เพิ่ม 3 ลด' คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
นายกฤต อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า หลักสำคัญของการทำนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เทคโนโลยี 4 ป. คือ ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เปียกสลับแห้ง ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และแปรสภาพฟางและตอซังข้าว โดยเน้นส่งเสริมการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์
การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการปฏิบัติเทคโนโลยีอื่น เช่น ลดการใช้น้ำและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและข้าวได้รับปุ๋ย สม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนาจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
"ปัจจุบันภาคการเกษตรมีเศษฟางที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซังเพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกร ส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง บ้างก็เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้ง อย่างน่าเสียดาย ซึ่งการเผาฟางอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะ และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง" นายกฤตกล่าว
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซีย กล่าวว่า การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
"ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงในการเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 การเปลี่ยนผ่านนี้ต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกคน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำนาข้าว ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ GIZ มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี และเราพร้อมเดินหน้าสนับสนุนพันธมิตรภาคเกษตรของไทยต่อไป โดยวางเป้าส่งเสริมเกษตรกรใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือน ให้รู้จักการทำนาที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน ซึ่งการดำเนินงานของเรานี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรและผู้ให้บริการทางการเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ หากพวกเขานำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับใช้อย่างแพร่หลาย แนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้อย่างแน่นอน" นายไรน์โฮลด์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit