บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ส่งสัญญาณแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 โตต่อเนื่อง หลังปริมาณการจราจรกลับมาคึกคัก ด้านซีอีโอ "ธานินทร์ พานิชชีวะ"ประกาศเดินหน้าลุยประมูลงานใหม่ 4-5 โครงการ มั่นใจรายได้ค่าผ่านทางปีนี้โตเกิน 50% แตะ 1,900 ล้านบาท หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการโควิด-โรงเรียนเปิด Onsite
นายธานินทร์ พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT) ประเมินว่าปริมาณการจราจรในไตรมาส 2/2565 น่าจะดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2565 ที่มีปริมาณจราจรของทางยกระดับดอนเมืองเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 68,160 คันต่อวัน ส่วนสัมปทานเดิมเฉลี่ยต่อวัน 40,539 คันต่อวัน ส่วนสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ เฉลี่ยต่อวัน 27,621 คันต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีของปี 2564 ที่ร้อยละ 20.8 และ 17.3
โดยที่ค่าเฉลี่ยปริมาณการจราจรของทางยกระดับดอนเมืองในปี 2564 ทั้งปีอยู่ที่เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 57,105 คันต่อวัน แบ่งเป็นปริมาณจราจรส่วนสัมปทานเดิมเฉลี่ยต่อวัน 33,556 คันต่อวัน ส่วนสัมปทานตอนต่อขยายด้านทิศเหนือ เฉลี่ยต่อวัน 23,549 คันต่อวัน
ปัจจัยที่สนับสนุนปริมาณการจราจรมาจากปัจจัยบวกของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง, การเตรียมประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศ, การเปิดประเทศ รวมถึงโรงเรียนประมาณ 35,000 แห่งทั่วประเทศกลับมาเรียน Onsite อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองและการขนส่งที่มุ่งเน้นทางด่วนโดยรอบ ซึ่งจากประเด็นข้างต้นบริษัทฯจึงคาดว่าจะเป็นผลบวกต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 ให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
"คาดการณ์แนวโน้มในไตรมาส 2/65 และแนวโน้มครึ่งปีหลัง น่าจะดีต่อเนื่อง จากมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมของภาครัฐ ช่วยสนับสนุนการเดินทางและปริมาณจราจรบนทางยกระดับให้เพิ่มขึ้น ซึ่งลักษณะธุรกิจของบริษัทฯ เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภททางด่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เราจึงคาดว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้จะฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ" นายธานินทร์ กล่าว
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ คาดการณ์รายได้ค่าผ่านทางในปีนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.25 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Toll Road Business) ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82), โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง และธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจทางด่วนและทางพิเศษ (Non-Toll Road Business) อาทิ โครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวง (Rest Area) และ โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง (Feeder) เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
"ในไตรมาส 1/2565 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ดำเนินงานต่อเนื่องในการยกระดับและการวางรากฐานการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยมีโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2565 ได้แก่โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำใต้ทาง เปลี่ยนท่อระบายน้ำแยกลาดพร้าว และการเชื่อมต่อข้อมูลด้านการจราจร ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ กรมทางหลวง (Traffic Operation Center: TOC) เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือด้านการจราจร บริษัทฯ ได้สนับสนุนภาพจากกล้อง CCTV จำนวน 26 กล้องบนทางยกระดับ แสดงผลที่ศูนย์ฯ ได้เรียบร้อย และพร้อมเดินหน้าโครงการต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อไป" ดร.ศักดิ์ดา กล่าวในที่สุด
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit