5 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ คว้าแชมป์ "ไทยใส่สบาย" ต่อยอดผ้าไทยร่วมสมัย

18 Aug 2022

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยใส่สบาย หรือ "Contemporary Fashion Competition 2022" มอบโล่รางวัลเกียรติยศให้กับ 5 ผลงานที่ชนะเลิศพร้อมเงินรางวัลรวม 160,000 บาท ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมพร้อมถ่ายทอดศิลปะภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ให้ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นพัฒนาไปสู่สากล

5 ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ คว้าแชมป์ "ไทยใส่สบาย" ต่อยอดผ้าไทยร่วมสมัย

การประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย "ไทยใส่สบาย"ประจำปี 2565 ภายใต้โจทย์ในการนำผ้าไทยซึ่งถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถนำมาตัดเย็บให้สวยงาม ใส่ได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบาย มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 88 ภาพผลงานจากทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกโดยเหล่าดีไซเนอร์มืออาชีพระดับแถวหน้าของไทย จนได้ผู้ชนะเลิศ 5 คนสุดท้าย โดยผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นให้เกียรติเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ คุณศิริชัย ทหรานนท์ คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ คุณเอก ทองประเสริฐ และที่ปรึกษาโครงการ คุณบัญชา ชูดวง โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวของการทำงานเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์

นายนรบดี ศรีหะจันทร์ ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ "RE อีสาน" กล่าวว่า ""ก่อนอื่นคงต้องขอบคุณเวทีนี้ที่เปิดกว้าง ทำให้เราได้มีโอกาสปลดปล่อยไอเดีย ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เราคิดไว้ในหัว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ แต่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริงและใช้ได้จริงในครั้งนี้  ซึ่งสิ่งที่นำมาเสนอเราพยายามหาจุดที่แตกต่าง เราเดาว่าคนอื่นคงนำเสนอเรื่อง Inspiration เราเลยเลือกที่จะนำเรื่องของกระแสที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ตอนในนี้คือ Fast Fashion มาบอกเล่า นำเอาประเด็นนี้มาพูด เพราะในส่วนของผ้าไทย ยังไม่เคยมีใครพูด คือ Fast Fashion ส่วนมากจะถูกพูดถึง Ready to wear หรือเป็นอะไรที่ Mass มากๆ ใส่ครั้งเดียว ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วก็กลายเป็นของเก่าเก็บ หรือว่าเป็นขยะ

…สำหรับผ้าไทยจริงๆ ก็มีเหมือนกัน เลยมองว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้นำเอาพวกเศษผ้าไทยที่คุณแม่ คุณป้านำมาตัดในร้านตัดเสื้อ เป็นพวกเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ที่เขาต้องกวาดทิ้งอยู่แล้ว เป็นผ้าลายพื้นเมืองของอีสานครับ อย่าง ผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายลูกแก้ว หรือยกดอก ซึ่งทุกอย่างเป็นเศษผ้าทั้งหมดก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด"

นาย ไอสยา โอวาท ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า "คอนเซ็ปต์ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือภาษาไทยที่เราเรียนในสมัยยุค 90 ซึ่งเด็กสมัยใหม่อาจไม่รู้จัก เราได้นำเอาชุดของ มานะ มานี ซึ่งเป็นชุดนักเรียนในหนังสือมาปรับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ให้ใส่สบายยิ่งขึ้น โดยผ้าที่เราใช้เป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอมือของจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เทคนิคการเลเซอร์คัทตัวอักษรเนื้อหาการเรียนการสอนมาเรียงร้อยเป็นลายผ้า ชูลายเส้นตัวอักษรไทยให้แลดูมีความสนุกสนานและมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้นครับ"

นายรัฐพล ทองดี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เผยถึงการออกแบบว่า "ผีขนน้ำ เป็นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากการละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านจังหวัดเลย โดยการออกแบบตัดเย็บผมเลือกใช้ผ้าย้อมครามมาตัดเย็บด้วยการใช้เทคนิคแพทเวิร์คผสานเข้ากับชิ้นงานโครเชต์ที่ทำจากเส้นฝ้ายเข็นมือ ถักทอขึ้นมาด้วยลวดลายที่เรียบง่าย ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ รู้สึกสบาย ใส่ได้บ่อยๆ  

…กับคำว่าผ้าไทย ผมในฐานะนักออกแบบที่ในวันนี้เราต้องนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด ไทยใส่สบาย รู้สึกดีมากเลยครับกับการที่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งช่วยส่งเสริมในเรื่องของผ้าไทย เปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงศัยภาพ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังมีความคิดว่า คนใส่ผ้าไทยต้องมีอายุ ต้องใส่ไปวัด ใส่ไปทำบุญ แต่ตอนนี้ผ้าไทยสามารถทำให้ร่วมสมัย สามารถใส่ได้ทุกวัน ใส่ได้ทุกโอกาสแล้วในวันนี้"

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลให้แก่ นาย ฬียฑา ชลิตณัฐกุล ที่นำผ้าบาติกของภาคเหนือและภาคใต้จากกลุ่มผู้ประกอบการ เก๋ บาติก และ AKARA BATIK มาผสมผสาน ด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ ภายใต้แนวคิด "AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย" และ นาย ธนกานต์ พันธุ์สุข ที่นำผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชงทอมือของผู้ประกอบการใน จ.ลำปาง มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด "ฮักหนา ก๋าไก่"

ทุกกระบวนการคือการกลั่นกรอง คัดสรร ความงดงามของผ้าไทยที่ผสมผสานกับฝีมือนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการเดินทางของผ้าไทย ที่จะถ่ายทอดความงดงามและความยิ่งใหญ่ของมรดกไทย สู่สายตาชาวโลก ขอเชิญผู้ที่สนใจกิจกรรมและโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยติดตาม    ได้ทาง www.ocac.go.th หรือ YouTube และ Facebook Fanpage สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

HTML::image(