สทนช. โดยกองส?งเสริมองค์ความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ลงพื้นที่จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารทรัพยากรน้ำ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังสภาพปัญหา พร้อมวางเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายจากทุกภาคส่วน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ โดยล่าสุด สทนช. ได้ดำเนินการคัดเลือกและสรรหากรรมการลุ่มน้ำครบถ้วนทั้ง 22 ลุ่มน้ำเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำ ให้แก่คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมทั้งระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนากระบวนการ เทคนิคการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อน
การบริหารทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ สทนช. โดยกองส?งเสริมองค์ความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างองค?กร จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 2) แนวทางการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรน้ำ 3) แนวทางการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง 4) แนวทางจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่เหมาะสม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำและสทนช. โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่ลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จ.หนองคาย ลุ่มน้ำชี ณ จ.ขอนแก่น ลุ่มน้ำมูล ณ จ.นครราชสีมา และจะมีการลงพื้นที่ในลุ่มน้ำอื่น ๆ จนครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 นี้
"การบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการคือสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ดังนั้น การเสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำจากภาครัฐ ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ เกิดการแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น รับฟังสภาพปัญหา ซักถามและเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนาคต นอกจากนี้ สทนช. ยังมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำ และ สทนช. ด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมมือร่วมใจกันของคณะกรรมการลุ่มน้ำชุดปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานบริหารทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ ไปจนถึงระดับประเทศ อันจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน โดยวานนี้ (19 ก.ค. 65) ได้มีการจัดประชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ณ จ.สุราษฎร์ธานี และจะมีการจัดประชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ บริเวณภาคใต้อย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ค. 65 ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ณ จ.สงขลา ในวันที่ 20 ก.ค. 65 พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ณ จ.ยะลา ในวันที่ 21 ก.ค. 65 และพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ณ จ.ตรัง ในวันที่ 22 ก.ค. 65 ตามลำดับ ก่อนจะขยายผลไปสู่พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือจนครบทุกลุ่มน้ำต่อไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit