"ยุทธศาสตร์วิจัยชาติจะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จะต้องอาศัย Policy Advocacy ที่นำมาซึ่งความร่วมมือ โดยมุ่งประโยชน์ร่วมกันเพื่อสังคม"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ "เสริมพลังทางการศึกษาเพื่อสังคมไทย" ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เมื่อเร็วๆ นี้
ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันตามโครงสร้างการบริหารจัดการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ จากการเข้าหารือเพื่อเติมเต็มภารกิจ Policy Advocacy มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีความถนัดในเรื่องสุขภาพและเทคโนโลยี ได้รับการเสนอแนะจาก ศาสตราจารย์พิเศษดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ร่วมกับ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเวทีท้องถิ่น
จนนำไปสู่ความร่วมมือต่างๆ โดยโครงการที่มีความคืบหน้าล่าสุด ได้แก่ ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในการจัดตั้ง "ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน" ซึ่งมีรูปแบบการประกอบการที่คล้ายกับร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ แต่มีเงินปันผลให้แก่ผู้เข้าร่วมในชุมชนด้วย
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรแปรรูปส่วนหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรีทำมาจากอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก จากการลงพื้นที่พบปัญหาส่งอ้อยขายโรงงานไม่ได้ราคา เนื่องจากเมื่อนำมาเข้าเครื่องหีบแล้วได้น้ำอ้อยในปริมาณน้อย ทำให้เกษตรกรต้องประสบกับภาวะการขาดทุน
ทีมวิจัยจึงได้เข้าช่วยแก้ไขปัญหาด้วยการเสนอให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชนต่างๆ ซึ่งได้แก่ ขนมทอฟฟี่ และน้ำตาลอ้อย เป็นต้น ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้กลับมามีความหวังในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปได้อีกครั้ง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวความเชื่อมั่นทิ้งท้ายว่ามหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อต่อเติม และผลักดันสู่นวัตกรรมขับเคลื่อนโลกแห่งอนาคต และพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อทำอนาคตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit