คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี และ ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม มอบนวัตกรรม "ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ พลังแสงอาทิตย์" (Mobile Battery Charger) รุ่นใหม่มีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการ ภายใต้โครงการเพื่อสังคม "EGMU Mobile Battery Charger" ให้แก่ โรงพยาบาลปากพลี จ.นครนายก จำนวน 1 ตู้ โดยมี นายแพทย์สมาน ฟอนฟัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากพลี เป็นผู้รับมอบ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยและนานาชาติต่างหันมาให้ความสำคัญกับ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างนวัตกรรมในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการเพื่อสังคม "EGMU Mobile Battery Charger" คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) นำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หมดความจำเป็นในการใช้งานแล้วมารีไซเคิล ออกแบบ และพัฒนาเป็นนวัตกรรม "ตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ พลังแสงอาทิตย์" รุ่นใหม่มีอักษรเบรลล์ ด้วยสำหรับผู้พิการทางสายตา ทั้งนี้เพื่อเป็นบริการแก่ชุมชนสังคม ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล บุคลากร ญาติผู้ป่วยตลอดจนผู้พิการ สามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างง่ายดาย พร้อมทั้งช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานอีกด้วย
ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักการทำงานของตู้ชาร์จโทรศัพท์มือถือ จะนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า โดยใช้แผงโซล่าร์เซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 12 โวลต์ 50 วัตต์ แบตเตอรี่ขนาด 12 วัตต์ 5.5 แอมป์ จากนั้นนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มาเก็บในประจุพลังงานเพื่อบริการชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถรองรับโทรศัพท์มือถือได้ทุกรุ่น มีหัวชาร์จหลายแบบให้เลือกและสามารถชาร์จได้พร้อมกันถึง 3 เครื่อง อย่างปลอดภัย ใช้เวลาเพียง 5-10 นาที มีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักวิศวกรรม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit