AIS-โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้ง อสม.ในพื้นที่ ร่วมภาคภูมิใจ ได้รับรางวัล Prime Minister's Digital Awards 2021 ในหมวด Digital Community of the Year สาขา Well being จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะทางสุขภาพในภาพรวม ตั้งแต่การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ,การคัดกรองดูแลสุขภาพจิตคนในชุมชน , การสำรวจลูกน้ำ ยุงลาย บ่อเกิดไข้เลือดออก ช่วยเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลและติดตามดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า "แรงบันดาลใจหลักของเราในฐานะ Digital Life Service Provider คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ดังเช่น ด้านสาธารณสุข ที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ในช่วงกว่า 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับการทำงานของ อสม.ให้สามารถส่งเสริมและสร้างสุขภาวะมวลรวมด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันมี อสม.ใช้งานเป็นประจำแล้วกว่า 500,000 ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งการคัดกรองโควิด, การสำรวจสุขภาพจิต, การติดตามสถานการณ์ลูกน้ำยุงลาย บ่อเกิดไข้เลือดออก รวมถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพต่างๆ ที่นอกจากจะทำให้การทำงานของ อสม.คล่องตัวแล้ว ยังทำให้การประเมินภาพรวมของคุณภาพชีวิต หรือ เวลบีอิ้ง ของประชาชนในพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
"โดยการได้รับรางวัล Prime Minister's Digital Awards 2021 ในหมวด Digital Community of the Year สาขา Well being ผ่านการทำงานของ AIS พร้อมด้วย โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้ง อสม.ในพื้นที่ ในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจ และกำลังใจสำคัญ พร้อมเป็นบทพิสูจน์ถึงความแน่วแน่ในเป้าหมายของทุกภาคส่วนที่บูรณาการ การทำงานเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดผลขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม"
ด้านนายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.) กล่าวว่า "ที่ผ่านมา เราส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลของการคัดกรองและการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงตามหลักระบาดวิทยา รวมทั้งสามารถวางแผนการทำงานร่วมกับ อสม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อมีการนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พร้อมจะเรียนรู้ ปรับตัว ก็จะยิ่งส่งผลทำให้การทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าทัน และเท่าเทียม"
โดย นายแพทย์สุพัชร์ศักย์ พันธุ์ศิลา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า "ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าสาธารณสุขทุกคน ต่างทำงานอย่างหนัก โดยเน้นการขับเคลื่อนความช่วยเหลือประชาชนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่าง แอปฯ อสม.ที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าเชิงรุกอย่าง อสม.ใช้เก็บข้อมูลประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว เรียลไทม์ โดยเฉพาะ การติดตามสถานการณ์โควิดในชุมชน ที่ทำให้เราสามารถร่วมกันวางแผนบริหารจัดการ กลุ่มผู้ติดเชื้อ home isolation หรือ การติดตามกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลรายงานถึงฝ่ายบริหารระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด กรณีเกิดเหตุพบการแพร่ระบาดกลุ่ม (คลัสเตอร์) ได้อย่างฉับพลัน นำไปสู่การเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"
ทั้งนี้ นางกริชติยา ธรรมวัตร ประธาน อสม.โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา การปฏิบัติงานของพวกเราปรับเปลี่ยนไปพอสมควร โควิด-19 ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด แต่เมื่อมีการนำแอปฯ อสม.ออนไลน์ พร้อมฟีเจอร์ที่ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว คล่องตัว ลดการสัมผัส ก็ยิ่งทำให้พวกเราสามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้เอง โดยไม่ต้องรอบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับภาระหนักอยู่แล้ว รวมถึงการติดตามกลุ่มเป้าหมาย พร้อมให้ข้อแนะนำ เพื่อช่วยในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และเมื่อเราใช้งานแอปฯได้อย่างคล่องตัว ก็ยิ่งทำให้เราดูแลประชาชนได้มากขึ้น ถือเป็นเครื่องมือเชิงรุกช่วยดูแลสุขภาพองค์รวมของประชาชนได้อย่างดี"
สำหรับรางวัล Prime Minister's Digital Awards 2021 ในหมวด Digital Community of the Year สาขา Well being ปีนี้มอบให้แก่ AIS-โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด รวมทั้ง อสม.ในพื้นที่ ในฐานะที่สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยในชุมชนดังกล่าว อสม. ทั้ง 427 คนใช้ แอปฯ อสม.ออนไลน์ทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้ฟีเจอร์สำคัญอย่างการคัดกรองโควิด ที่เน้นติดตามคนที่มาจากต่างพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังใช้ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิตได้มากกว่า 6,000 คน ช่วยให้ภาพรวมการดูแลสุขภาพจิตประชาชนเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดูแลสุขภาวะทั้งกาย ใจ ในภาพรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเป็นแบบอย่างที่สามารถส่งต่อโมเดลการทำงานที่บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐในระดับท้องถิ่น ส่วนกลาง และภาคเอกชนได้อย่างเป็นเลิศ"
"ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพจากการระบาดของโควิดไปทั่วโลก การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในท้องถิ่นคือ หัวใจสำคัญที่สุด ดังนั้น AIS จึงยังคงเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ พร้อมตั้งมั่นในเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลทุกรูปแบบมาพัฒนา เพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานในพื้นที่ มีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทย เป็นไปได้อย่างดีที่สุด" นางสายชล ย้ำในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit