อีเลคโทรลักซ์เผยเยาวชนไทยเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

22 Sep 2021

ผลสำรวจเชิงลึกล่าสุดที่อีเลคโทรลักซ์ได้ทำการศึกษาในกลุ่มเยาวชนเกือบ 14,000 คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เปิดเผยว่าคนรุ่นใหม่ไม่เพียงเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าตนเองมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สนับสนุนและผู้นำเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

อีเลคโทรลักซ์เผยเยาวชนไทยเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

การสำรวจครั้งใหญ่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของอีเลคโทรลักซ์ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้คนทั่วโลก โดยการสอบถามมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผลการศึกษาจากเยาวชนไทย 1,127 คนที่ร่วมตอบแบบสอบถามพบว่า ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนนั้น 12% เชื่อมั่นว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญ ขณะที่ อีก 12% เชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์มีบทบาท และอีก 10% เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ ขณะที่มีเพียง 6% เท่านั้นที่เชื่อว่าคนวัยผู้ใหญ่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ หกในสิบ หรือ 62% ยังเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้จริง

จากผลการศึกษานี้ อีเลคโทรลักซ์ได้เชิญชวนเยาวชนทั่วโลกมาทำงานร่วมกับทีมวิจัยและออกแบบของอีเลคโทรลักซ์ซึ่งมีภารกิจในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ตลอดจนผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงชั้นนำของโลก ที่ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของอีเลคโทรลักซ์เพื่อสรรหาโซลูชั่นที่ลงตัวสำหรับการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น โดยอีเลคโทรลักซ์จะนำข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจครั้งนี้และจากการร่วมทำงานกับทีมผู้เปลี่ยนแปลงโลกมาใช้เพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไปในอนาคต

สำหรับในประเทศไทย คนรุ่นใหม่ไม่เพียงมองว่าตนเองจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตเท่านั้น แต่ 54% ยังเชื่อว่าตนเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านความยั่งยืนอย่างแข็งขัน และได้พยายามโน้มน้าวผู้อื่นให้มีหันมาใช้ชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 62% เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น ในขณะที่เยาวชนไทยมีความเต็มใจทำในส่วนที่ทำได้แล้ว แต่กลับรู้สึกท้อแท้กับความล้มเหลวของคนรุ่นก่อน โดย 6 ใน 10 คนมีความเห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำพลาดไป และส่วนใหญ่ถึง 58% รู้สึกว่าเยาวชนได้พยายามส่งเสียงเรียกร้องแล้วแต่กลับไม่มีผู้ใหญ่รับฟัง

กุญแจสู่ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น จากเสียงของคนไทยรุ่นใหม่
ผลการสำรวจพบว่า คนไทยรุ่นใหม่เห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน (69%) และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (67%) เป็นทางออกที่สำคัญที่สุดเพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น เมื่อพูดถึงบ้านในอนาคต คนรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจกับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในเรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะในบ้านซึ่งไม่มีความยั่งยืนที่ชัดเจน

รัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย และอินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เก็ต บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "เยาวชนในปัจจุบันมีความกระตือรือร้นอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของตน และการสำรวจครั้งนี้ของเราได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจในการบริโภคอาหารออร์แกนิกหรืออาหารจากพืช (Plant-Based) ลดการซื้อเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion และแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ หลังจากการเปิดตัวแคมเปญ Better Living in 2030 ทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ เราได้ตัวแทนเยาวชนที่สองคนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง เพื่อมาร่วมทีมผู้เปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงชั้นนำของโลก และทีมผู้เชี่ยวชาญของเราที่ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของอีเลคโทรลักซ์ ในการเฟ้นหาโซลูชั่นเพื่อการใช้ชีวิตในอนาคต ทั้งคู่ซึ่งเป็นตัวแทจจากออสเตรเลียและประเทศไทย จะเป็นแรงผลักดันที่แข็งแกร่งในการนำเสียงของคนรุ่นใหม่จากภูมิภาค APAC และ MEA มาสู่การสร้างสรรค์โซลูชั่นสำหรับบ้านในอนาคตที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้จริง"

เกี่ยวกับเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ของอีเลคโทรลักซ์
การสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของอีเลคโทรลักซ์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้คนทั่วโลก โดยมุ่งเน้นแนวทางเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีขึ้น การดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ดีขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ดีขึ้น และการเป็นบริษัทที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมให้อีเลคโทรลักซ์สามารถนำโซลูชั่นมาช่วยรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ผลการสำรวจที่สำคัญในประเทศไทย

อนาคตของการบริโภคและประกอบอาหาร
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนไทยรุ่นใหม่อยากทำที่บ้านในอนาคตคือ การผลิตอาหารขึ้นเอง (31%) ปรุงอาหารจากพืชให้มีรสชาติอร่อย (28%) และแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหรือรีไซเคิลเศษอาหารได้ทั้งหมด (27%) มีเพียง 16% เท่านั้นที่ต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแทนการปรุงอาหารกินเอง ขณะที่ 10% เชื่อว่าจะได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ 9% เชื่อว่าจะได้บริโภคโปรตีนจากแมลง และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนจะไม่ต้องทำอาหารเลยในอนาคต

อนาคตของการใช้และดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการใช้เสื้อผ้าอย่างยั่งยืนในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลและซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น (67%) และลงทุนในเสื้อผ้าคุณภาพสูง (59%) ขณะที่ 43% เชื่อว่าตนจะสวมเสื้อผ้าเสมือนจริงภายในปี 2573 และ 36% เห็นว่าการเช่าเสื้อผ้าจะกลายเป็นพฤติกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ผู้คนนิยมกันภายในปี 2573

อนาคตของความเป็นอยู่อากาศที่ดีภายในบ้าน
เมื่อพูดถึงความเป็นอยู่และอากาศหายใจที่ดีภายในบ้านในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่มองว่าระบบอัจฉริยะในบ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และอยากได้ระบบที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพ (29%) ให้คำแนะนำด้านการกินอาหาร (29%) บอกแนวทางและคำแนะนำเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน (28%) รวมถึงกิจวัตรการออกกำลังกาย (24%) นอกจากนั้น ยังเห็นว่าระบบเหล่านี้จะสามารถช่วยปกป้องคนจากมลภาวะสารพิษภายนอกบ้านได้ (34%)

เกี่ยวกับการสำรวจครั้งนี้
การสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ United Minds ในนามของอีเลคโทรลักซ์ ประกอบด้วยการสำรวจเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสำรวจเชิงปริมาณจัดทำขึ้นแบบออนไลน์ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปีใน 13 ประเทศ (อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล โปแลนด์ สวีเดน ไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวียดนาม) โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนในแต่ละตลาด (ทั้งหมดรวม 13,886 คน) ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับแบบสอบถามจาก CINT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทำแบบสำรวจ มีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 17 ครั้งกับกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปี ในทั้ง 13 ประเทศ การเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำขึ้นระหว่าง 19 กุมภาพันธ์ - 16 มีนาคม 2564

สามารถอ่านผลการสำรวจฉบับเต็มได้ที่ https://www.betterlivingprogram.com/

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit