สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย บริษัทบี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมนำเสนอผลสำเร็จของการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ "การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย" ในการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการ โดยโครงการฯ ได้พัฒนาคู่มือและแนวทางด้านความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์รวม 998 คน
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี โครงการฯ ได้เสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการอบรมใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) การทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ 2) การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างปลอดภัย 3) การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งอย่างปลอดภัย และ 4) การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลในด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนด้านนโยบายความปลอดภัยจากผู้บริหาร โดยโรงพยาบาลนำร่อง 14 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 17 แห่ง ได้นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล
นอกเหนือจากการฝึกอบรม โครงการฯ ยังได้พัฒนาคู่มือและแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานหรือแนวทางอ้างอิงเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มตำและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการให้สารน้ำทางหลอดดำ ข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการให้ยาเคมีบำบัด และคู่มือวิธีประเมินการทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคู่มือและแนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อบรมและถ่ายทอดสู่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป
เกอร์มัน มูลเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของ GIZ กล่าวว่า "GIZ มีความยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่โครงการฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย เราไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้นในช่วงที่ดำเนินโครงการอยู่ แต่ก็ถือว่าโครงการมาถูกเวลา เพราะเราได้จัดฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านการล้างมือแก่บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 200 กว่าคน ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 70 แห่งไปก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดแล้ว ซึ่งหวังว่าความรู้ที่ได้ถ่ายทอดไปนั้นจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้และป้องกันตัวเองจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 93 คนให้พร้อมสู่การเป็นผู้ฝึกอบรมต้นแบบที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้กับเพื่อนร่วมงานและเครือข่ายของตนเองได้ด้วย เราหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้ที่โครงการฯ ได้พัฒนาขึ้นจะถูกถ่ายทอดต่อไปและช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และ GIZ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต"
"บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องและพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเป็น Solution Partner ในการพัฒนาคุณภาพของบริการทางการแพทย์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป จากที่บี. บราวน์ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 32 ปีแล้วในประเทศไทย ด้วยการเป็นพันธมิตรที่ดีของประเทศและพร้อมที่จะเป็นทูตการแพทย์ระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศไทย เรามีความยินดีในความสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้ช่วยลดต้นทุนให้กับโรงพยาบาลพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของความปลอดภัยและสร้างการบริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้แล้วบริษัท บี. บราวน์ ยังร่วมกับ GIZ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สนับสนุนความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยการมอบเจลล้างมือแอลกอฮอล์จำนวน 157,500 ขวด ให้แก่โรงพยาบาล 62 แห่ง ในพื้นที่สีแดง เมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เรื่องการล้างมือ และเผยแพร่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และสุพรรณบุรี" สายัณห์ รอย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า "สำหรับความยั่งยืนและการขยายผลจากความสำเร็จของโครงการนั้น สรพ. มีระบบในการรายงานอุบัติการณ์ต่างๆ เป็นระบบการรายงานและเรียนรู้อุบัติการณ์ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการรายงานเรื่องการล้างมือของบุคลากรทางการแพทย์ และการรายงานอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้สารน้ำหรือยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำด้วย โดยมีโรงพยาบาลกว่า 700 แห่งทั่วประเทศรายงานเข้าระบบนี้ และสรพ.ยังเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข (Personnel Safety) ด้านการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันพบว่าบุคลากรมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการติดเชื้อจากการแพร่ผ่านละอองฝอย (droplet transmission) ของเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะผลักดันในความร่วมมือต่อไปในอนาคต คือ ความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 (Personnel Safety in COVID-19 situation) และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต"
นางจินตนารักษ์ สมสกุลชัย หัวหน้าหอผู้ป่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการให้ยาเคมีบำบัด กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ ว่า "จากการอบรม ทำให้ได้รับทักษะความรู้จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ รวมทั้งองค์ความรู้ที่เป็นสากลซึ่งนำมาปรับใช้กับบริบทการทำงานในประเทศไทย อีกทั้งการที่โครงการฯ ได้เชิญผู้บริหารให้เข้ามารับฟังและมีส่วนร่วม ทำให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญและบุคลากรทางการพยาบาลก็ได้รับการสนับสนุนชุดอุปกรณ์ป้องกันในการบริหารยาเคมีบำบัดครบถ้วนตามมาตรฐาน ทำให้เกิดความปลอดภัย บุคลากรมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การมีมาตรฐานแนวทางตามหลักสากลให้บุคลากรปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้โรงพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยและบุคลากรมีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety: 2P Safety) ด้วย"
HTML::image(