นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปมีสัญญาณการขยายตัวดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ดัชนี PMI ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรปอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าเกิดการขยายตัวในภาคการผลิตและบริการ ขานรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงความรุนแรงในอินเดีย และในญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุง Tokyo, Kyoto, Osaka และ Hyogo โดยบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงวันหยุดเทศกาล Golden week ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. - 11 พ.ค. 64
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันของประเทศไทยแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันอ้างอิงนั้น จะประกอบด้วย 1) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย 2) ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศและบำรุงท้องถิ่น 3) กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง: เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน: เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน 4) ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่ การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวปิดท้าย
สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (19 - 25 เมษายน 2564)
ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $63.86 และ $62.16 ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.98 และ $0.23 ต่อบาร์เรล สอดคล้องกับเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากหลายประเทศได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ และประเทศลิเบียได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเหลือ 1 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณกับธนาคารกลางของประเทศ
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย
ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $75.11, $72.85 และ $73.75 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $1.30, $1.38 และ $1.16 ต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในจีน อีกทั้งแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดียและญี่ปุ่น
ราคาน้ำมันดีเซล (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $69.71 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.93 ต่อบาร์เรล เนื่องจากประเทศแถบยุโรปเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้น้ำมันดีเซล
ค่าเงินบาทของไทย แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.09 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.4695 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.21 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.14 บาท/ลิตร)
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ณ วันที่ 25 เม.ย. 64) กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 56,843 ล้านบาท หนี้สินกองทุนน้ำมันฯ 35,420 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 21,423 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 33,426 ล้านบาท บัญชี LPG -12,003 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit