สนพ.เผยราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังกลุ่มโอเปกพลัสขัดแย้งนโยบายการผลิต

15 Jul 2021

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังตลาดกังวลเรื่องความขัดแย้งในการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเกี่ยวกับนโยบายการผลิตเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และยังไม่มีการกำหนดวันประชุมที่ชัดเจนเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีการปรับเพิ่มการผลิตใดๆ จากกลุ่มโอเปกพลัสจะทำให้ตลาดน้ำมันดิบโลกเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวในไตรมาส 3 และ 4 ได้ ในทางตรงกันข้ามตลาดยังคงกังวลว่า หากไม่มีข้อสรุปอาจเกิดสงครามราคาขึ้น และทำให้แต่ละประเทศผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่สนใจโควต้าของกลุ่มหรือไม่ ทั้งนี้ ราคาได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในสหรัฐฯ และยุโรป หลังประชากรส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีการบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์อีกครั้ง

สนพ.เผยราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังกลุ่มโอเปกพลัสขัดแย้งนโยบายการผลิต

ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2564) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  และ 73.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  โดยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้นักลงทุนยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนของนโยบายการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส หลังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมที่ผ่านมา ขณะที่รัสเซียพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เรื่องการเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป 

อีกทั้งหลายประเทศยังคงเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก เตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับพื้นที่โตเกียว ระหว่างช่วงการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 23 ก.ค. - 8 ส.ค. 64 ขณะที่มาเลเซีย ไทย และเกาหลีใต้ ได้มีการประกาศมาตรการควบคุมเข้มงวด เพื่อลดการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์ที่ให้ร้านอาหารหยุดดำเนินการและงดงานเทศกาล

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย

  • ราคาน้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 86.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 84.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 85.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  1.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  และ 1.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ตามลำดับ  โดยบริษัท Sinopec ของจีนมีแผนงดส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่นน้ำมัน Hainan Petrochemical (184,000 บาร์เรล/วัน) ในเดือนกรกฎาคม  จากที่ส่งออกในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ 255,000 บาร์เรล/วัน รวมทั้ง ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ปรับลดลง 6.08 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 235.5     ล้านบาร์เรล และ Insights Global (IG) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ค. 64 ลดลง 0.37 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.45 ล้านบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อย 0.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  จากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในหลายประเทศถูกกดดันจากมาตรการล็อคดาวน์ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอกจากนั้นอุปทานน้ำมันดีเซลอาจเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นฟิลิปปินส์Bataan กลับมาดำเนินการผลิต จากที่หยุดดำเนินการ 5 เดือน

ส่วนค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.30 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.5044 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.64 บาท/ลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.20 บาท/ลิตร   ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.26 บาท/ลิตร  

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 11ก.ค. 64 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 51,041 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 33,974 ล้านบาท ทั้งนี้ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 17,067 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 31,178 ล้านบาท และบัญชี LPG  -14,111 ล้านบาท

HTML::image(