หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และกองทุนเวลคัม สหราชอาณาจักร ได้จัดทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "มุมมองเชิงสังคม จริยธรรม และความเปลี่ยนแปลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามข้อคิดเห็นและทัศนคติจากกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่อมาตรการยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่ใช่มาตรการทางการแพทย์ (อาทิ มาตรการในการกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคม และการจำกัดการเดินทาง )และการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19
ผลจากการศึกษาวิจัยที่จัดทำในประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่ใช่มาตรการทางการแพทย์ โดยได้แสดงถึงอายุ การศึกษา และรูปแบบครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการสื่อสารและการรับรู้ข่าวสารของประชากรในระหว่างการระบาดของโรคฯ
การศึกษานี้จัดทำขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะจัดทำขึ้นในประเทศไทยแล้ว ยังได้จัดทำขึ้นในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี และสาธารณรัฐสโลวีเนีย ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในประเทศไทยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามแบบออนไลน์ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,020 คน (แบ่งเป็น ภาคกลางร้อยละ 28 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 27 ภาคใต้ร้อยละ 19 ภาคเหนือร้อยละ 19 และภาคตะวันออกร้อยละ 7)
กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบ
ผลจากการศึกษาวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้ที่มีงานทำมาก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ ร้อยละ 50 ถูกลดเวลาในการทำงานและสถานที่ทำงานจำต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ร้อยละ 20 ต้องหยุดทำงาน และร้อยละ 18 มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานไปเป็นแบบนิวนอลมอล อาทิ มีการทำงานจากที่บ้าน
ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในช่วงอายุอื่น โดยร้อยละ 32 ของผู้ที่อยู่ในช่วงอายุนี้ตอบว่าถูกเลิกจ้างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับผู้ที่มีช่วงอายุระหว่าง 25-34, 35-64 และ 65ปีขึ้นไป ที่ได้รับผลกระทบนี้ ที่ร้อยละ 25, 20 และ 22 ตามลำดับ
ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการศึกษาในระดับต่ำกว่าประถมหรือมัธยมศึกษา ร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ ร้อยละ 24 ต้องออกจากงาน และกว่าร้อยละ 89 มีความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย
ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสมาชิกในครอบครัวมากกว่า 5 คนขึ้นไปหรืออยู่ในครอบครัวขยาย กว่าร้อยละ 80 มีความกังวลเป็นอย่างมากในเรื่องรายได้ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในด้านภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลคนในครอบครัว
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยว และในธุรกิจนอกระบบในประเทศไทยได้รับผลกระทบและเป็นกลุ่มที่มีความกังวลต่อมาตรการต่างๆ มากที่สุด โดยจากรายงานดัชนีความเข้มงวดของภาครัฐต่อมาตรการด้านสาธารณสุขซึ่งจัดทำโดย the Oxford COVID-19 Government Response Tracker (OxCGRT) ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก (ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563) และอยู่ในช่วงของการดำเนินการวิจัยนี้พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเข้มงวดต่อมาตรการด้านสาธารณสุขมากที่สุดประเทศหนึ่ง (โดยมีคะแนนความเข้มงวดของมาตรการด้านสาธารณสุขถึง 75 จาก 100 คะแนน) โดยมาตรการต่างๆ อาทิเช่น มาตรการการปิดพรมแดน มาตรการเคอร์ฟิว ฯลฯ ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจนอกระบบ อาทิ ร้านอาหารแนวสตรีทฟู๊ด และผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว โดยก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ การถูกเลิกจ้าง และการปิดกิจการ
พฤติกรรมของประชากรในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การศึกษาวิจัยนี้ยังพบว่า กว่าร้อยละ 92 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองก่อนที่ภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ โดยร้อยละ 94 มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ร้อยละ 85 หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ร้อยละ 97 ใช้เครื่องป้องกันส่วนบุคคล อาทิ หน้ากากอนามัย และร้อยละ 95 ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคในการทำความสะอาดร่างกาย ก่อนที่จะมีการออกมาตรการจากภาครัฐ แม้ว่าการศึกษานี้ไม่ได้มีการระบุถึงเหตุผลจากผู้ตอบแบบสอบถาม แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ได้แสดงถึงความสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ
การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19
ในส่วนของการสื่อสาร และรูปแบบในการรับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 นั้นมีรูปแบบที่คล้ายกันในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคกลาง ซึ่งสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิค-19 ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาครัฐได้มีการจัดรายการเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในทุกเที่ยงวันตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคฯ
ในส่วนของการรับข้อมูลข่าวสารนั้น ร้อยละ 88 ของผู้ตอบแบบสอบถามรับทราบข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ผ่านทางเฟซบุ๊ก และแอพพลิเคชั่นไลน์
ในส่วนของความชัดเจนของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับนั้น ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน โดยร้อยละ 59 ตอบว่ายังคงสับสนเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ร้อยละ 46 ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโทษ หรือค่าปรับที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรการภาคบังคับของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ตอบแบบสอบถามที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศ แต่ในด้านของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการควบคุมโรค อาทิ แนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดการคนเองเมื่อเกิดอาการต่างๆ และความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ผู้ตอบแบบสอบถามกลับตอบว่าได้รับข้อมูลในหัวข้อนี้อย่างชัดเจนและมากเพียงพอ เมื่อเทียบกับข้อมูลด้านอื่นๆ
ข้อสังเกตที่สำคัญที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการออกมาตรการของภาครัฐในอนาคต สามารถแบ่งได้เป็น 4 ข้อใหญ่ ดังนี้
ท่านสามารถดาว์นโหลดผลการศึกษาวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://wellcomeopenresearch.org/articles/5-245 และ https://bmjopen.bmj.com/content/11/7/e046863.full
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit