นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อมวลชนรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดนครราชสีมา และพิจิตร โดยจังหวัดนครราชสีมา แหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาในพื้นที่หมู่บ้านโนนกราด อำเภอลำคอหงส์ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพแห้งขอด ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 40 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน ขณะที่จังหวัดพิจิตร ลุ่มแม่น้ำยมแห้งขอด ส่งผลให้ฝายแม้วในพื้นที่วังลูกช้าง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม ไม่สามารถกักเก็บน้ำและแห้งลงตามสภาพแม่น้ำยม ทำให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานทั้งสองจังหวัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จในพื้นที่ โดยจังหวัดนครราชสีมาผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวน 48 ครัวเรือน ราษฎร 183 คน ใช้น้ำจากระบบประปาขององค์การบริหารส่วนตำบลลำคอหงษ์ ซึ่งสามารถให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติตามภาพข่าวเป็นสระน้ำประจำหมู่บ้าน (สระหนองกุ่ม) ซึ่งอำเภอโนนสูงได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พึ่งดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จไม่นาน โดยจะใช้เก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำอุปโภคบริโภคของบ้านโนนกราด หมู่ที่ 10 อบต.ลำคอหงษ์ ได้ดำเนินการขยายเขตประปาขนาดใหญ่ในพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าวตั้งแต่ ปี 2559 โดยมีแหล่งผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ตั้งอยู่หมู่ที่ 7
บ้านหนองเครือชุด สภาพปัจจุบันมีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ส่วนจังหวัดพิจิตร ได้ชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค แต่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ จึงได้ประสานอำเภอติดตามตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ทั้งนี้ จังหวัดพิจิตรได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ลดพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ โดยเฉพาะอำเภอสามง่ามได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบแล้ว พบว่ายังไม่มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด โดยเกษตรกรยังสามารถพึ่งพาตนเอง โดยการสูบน้ำจากบ่อบาดาลของในพื้นที่ของตนเอง และสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการหล่อเลี้ยงต้นข้าว พืชผัก และผลไม้
นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุน และสำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้ง ทั้งกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัย รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อีกทั้งสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงช่องทางอื่น ๆ อาทิ ศูนย์ดำรงธรรมทุกระดับในพื้นที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit