'โรคเบาหวาน’ ภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทย วิถีชีวิตยุคใหม่เพิ่มความเสี่ยงทุกช่วงอายุ
“โรคเบาหวาน” เคียงคู่มากับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต การกินอยู่แบบตามใจปากแต่ไม่ออกกำลังกาย ปล่อยให้ไขมันพอกพูนจนเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ถ้าใครมีพฤติกรรมเช่นนี้อาจต้องเปลี่ยนมาเดินเข้าออกโรงพยาบาลแน่นอน ยิ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ผู้ป่วยเบาหวานยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะถ้าติดเชื้อเมื่อไหร่ก็เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนปกติ
รศ.พญ.นันทกร ทองแตง แพทย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคเบาหวานมีหลายชนิดแต่ที่พบมากในประเทศไทยและทั่วโลกคือเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมาพร้อมกับภาวะโรคอ้วน จากผลสำรวจชี้ว่า เดิมเบาหวานชนิดนี้พบมากในประชากรวัย 60-79 ปีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 แต่ปัจุบันมีแนวโน้มเกิดในกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นเพิ่มขึ้น
“การใช้เทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิตทำให้เราขยับร่างกายกันน้อยลง ชีวิตคนวัยทำงานและวัยรุ่นเดิมเคยใช้เวลาในวันหยุดไปเข้าสังคมพบปะผู้คนหรือเล่นสนุกกับเพื่อน ปัจจุบันหลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์หรืออยู่บนโลกออนไลน์ พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปนิยมอาหารที่ซื้อหาได้ง่าย แม้มีรสอร่อยแต่ไขมันและน้ำตาลสูง ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต”
สิ่งที่น่าห่วงและถือเป็นภัยเงียบของโรคนี้คือ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานเกือบครึ่งไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรค โดยเฉพาะในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก ยิ่งแทบจะไม่แสดงอาการเลย กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพโดยการเจาะเลือดแล้ว
สถิติการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยเมื่อปี 2557 ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานและได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 54 เท่านั้น ในจำนวนนี้สามารถรักษาและควบคุมอาการไว้ได้เพียงร้อยละ 23.5 ที่สำคัญผู้ป่วยเบาหวานหากไม่ควบคุมโรคให้ดีจะมี อายุสั้นลง อันเกิดมาจากภาวะแทรกซ้อนทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ ตาบอด ไตวาย อัมพฤกษ์ โรคแผลเรื้อรัง เป็นต้น
รศ.พญ.นันทกร ระบุว่า ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองป่วยด้วยโรคเบาหวานให้สังเกตอาการง่ายๆ คือ มักดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะหากต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน น้ำหนักลด ปากคอแห้ง ชาตามปลายมือปลายเท้า ไปจนถึงตาพร่ามัว การทำงานของไตไม่ปกติ หรือมีแผลแล้วรักษาไม่หาย แน่นอนว่าผู้ที่เสี่ยงกับโรคนี้อันดับแรกๆ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อ้วน หรือมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวานมาก่อน ผู้มีไขมันในเลือดสูง มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดลูกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กก. ฯลฯ ใครที่เข้าข่ายเหล่านี้แนะนำให้รีบรุดไปตรวจสุขภาพโดยเร็ว
“สิ่งที่อยากฝากไว้คือในช่วงที่ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 แม้สถานการณ์ในไทยดูจะสงบ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน หากไปติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงกว่าคนปกติ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยง ถ้าจำเป็นก็ต้องป้องกันให้มากที่สุด ส่วนผู้ที่ต้องใช้ยารักษาประจำต้องเตรียมการไว้ให้พร้อมเป็นพิเศษ หากเกิดสถานการณ์ระบาดที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางมารับยาที่สถานพยาบาลได้ ต้องศึกษาช่องทางต่างๆสำรองไว้ทั้งการรับยาทางไปรษณีย์หรือการรักษาทางไกล”
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจจะไม่มีอาการทรุดหนักทุกราย แต่สามารถทำให้ทุเลาหรือรักษาหายได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักตัวและควบคุมอาหาร ควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาตามที่แพทย์สั่ง สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นมาจาก สถาบันครอบครัว ที่ทุกคนร่วมกันสอดส่องดูแลคนในบ้านและผู้ใหญ่ก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่างให้เด็ก ส่วนที่โรงเรียนสถานศึกษา ครูอาจารย์ควรหมั่นสำรวจเด็กที่กำลังเริ่มเกิดภาวะน้ำหนักเกินและดูแลโภชนาการ หน่วยงานภาครัฐควรรณรงค์ให้คนปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการสกัดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ให้เพิ่มขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit