นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม มอบหมายนายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) ครั้งที่ 155/2563 เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่)
นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม รายงานให้ที่ประชุมทราบสถานการณ์ภาพรวมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 17.00 น.) มีผู้ป่วยติดเชื้อรวม 22,048,933 คน อาการรุนแรง 62,074 คน รักษาหายแล้ว 14,791,748 คน เสียชีวิตรวม 777,430 คน สถานการณ์ภาพรวมในประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน (สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 3 คน) ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,381 คน (ติดเชื้อในประเทศ 2,444 คน สถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 444 คน) เสียชีวิต 58 คน
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น.) ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 2 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient under investigation: PUI) รายใหม่ 0 ราย ยอดสะสม 165 ราย คงเหลือติดตามต่อเนื่อง 5 ราย ข้อมูลผู้กักกันในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ (Local Quarantine) ยอดสะสม 130 ราย คงเหลือติดตาม 2 ราย (สิ้นสุดการติดตามวันที่ 26 สิงหาคม 2563)
ในส่วนสถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดนครพนม (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 16.00 น. โดยทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม) มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 401 ราย (อัตราป่วย 56.20 ต่อแสนประชากร) โดยพบผู้ป่วยรายล่าสุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ช่วงอายุระหว่าง 10-14 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อำเภอนาหว้า อำเภอนาแก และอำเภอท่าอุเทน โดยพบพื้นที่ระบาด 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 3 ตำบลคำพี้ อำเภอนาแก หมู่ที่ 5 ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า หมู่ที่ 6 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า และหมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า
จะอย่างไรก็ตาม มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง 32 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอเมือง 9 หมู่บ้าน อำเภอศรีสงคราม 5 หมู่บ้าน อำเภอปลาปาก 5 หมู่บ้าน อำเภอนาหว้า 3 หมู่บ้าน อำเภอนาแก 3 หมู่บ้าน อำเภอวังยาง 2 หมู่บ้าน อำเภอท่าอุเทน 2 หมู่บ้าน อำเภอธาตุพนม 1 หมู่บ้าน อำเภอนาทม 1 หมู่บ้าน และอำเภอเรณูนคร 1 หมู่บ้าน ทั้งนี้ โดยทีมตระหนักรู้สถานการณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้ติดตามรณรงค์ให้ดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรค จัดการสิ่งแวดล้อม สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน ทุกสัปดาห์ และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการทายากันยุงและกำจัดยุงในบ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit