วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็น "วันเอดส์โลก" (World AIDS Day) ซึ่ง โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ตั้งเป้าหมาย "90-90-90" ให้ภายในปี พ.ศ.2573 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 90 ได้รับการวินิจฉัย (diagnosed 90%) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 90 ได้รับการรักษา (on treatment 90%) และผู้ติดเชื้อร้อยละ 90 มีภูมิต้านเชื้อเอชไอวี (virally suppressed 90%)
รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูซ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ และหัวหน้าหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเอชไอวีที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศชายด้วยกันในกรุงเทพมหานครติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่รู้ตัว ด้วยอุปสรรคปัญหาทางสังคมมักพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวียังประสบปัญหาการถูกตีตราหรือถูกเลือกปฏิบัติ จึงทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศไม่กล้าไปเข้ารับการตรวจตามสถานพยาบาลด้วยวิธีปกติ
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จึงได้เสนอโครงการให้บริการตรวจเอชไอวีผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อออนไลน์ผ่านวีดีโอคอลเข้ามาช่วยให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถตรวจเอชไอวีได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้ชุดตรวจแบบรู้ผลทันที (rapid test) และยืนยันผลโดยให้กลุ่มตัวอย่างส่งกระดาษซับเลือด ไปยังศูนย์วิจัยทางคลินิก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจยืนยันทางคลินิก ซึ่งผลจากการทดสอบพบว่า วิธีการตรวจออนไลน์ด้วยตัวเองดังกล่าว ได้รับความสนใจจากเยาวชนชายกลุ่มเสี่ยง และส่งผลตรวจได้ตามขั้นตอนที่แนะนำผ่านระบบออนไลน์
รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูซ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจออนไลน์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองที่บ้าน ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และใช้เวลาไม่นาน และที่สำคัญ คือ ไม่ต้องออกไปตรวจข้างนอก ซึ่งในบางรายอาจเกิดความไม่มั่นใจ จนเปลี่ยนใจกลับบ้านโดยไม่ได้รับการตรวจ โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้มีความเสี่ยง สู่การบรรลุเป้าหมาย UNAIDS 90-90-90
นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวี จากผลงานของ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวีจนนำไปสู่การศึกษาครั้งแรกของโลกที่มีหลักฐานบ่งชัดว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคเอชไอวีมีความเป็นไปได้ และยังคงมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ตามรอยพระปณิธานแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่มุ่งประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit