นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคร่วมกล่าวเจตนารมณ์ในวันยุติการเลือกปฏิบัติ (Zero Discrimination Day) ตามแนวคิด"สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ" พร้อมมอบโล่รางวัลแก่องค์กร "ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน" ปี 2561 จำนวน 14 องค์กรและกล่าวว่าโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตจากเอชไอวี แต่ยังมีความท้าทายในการดำเนินงานเพื่อยุติการรังเกียจกีดกันและการเลือกปฏิบัติ ที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้มีเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบบริการโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลัก
ในปี 2562 นี้ กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน (DDC poll) จำนวน 3,500 คน จาก 25 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนยังคิดว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นคนไม่ดี ไม่ควรทำงานร่วมกับผู้อื่น ยังคิดว่าเอดส์ไม่มีทางรักษา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการรังเกียจและกีดกันผู้ติดเชื้อกับการอยู่ร่วมกันในสังคม มากสุดคือที่ทำงาน ร้อยละ 88.3 รองลงมาคือครอบครัว ร้อยละ 57 และโรงเรียน ร้อยละ 56.1 ตามลำดับ
ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้ตั้งเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการหลักที่สำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ดำเนินงานพัฒนาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และกลยุทธ์เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกรูปแบบ 2.มาตรการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับของสังคม พัฒนานวัตกรรม E-learning เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและลดการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ บูรณาการไปกับการพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ดำเนินงานตามแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน ภายใต้แนวคิดองค์กร "ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน" โดยให้องค์กรเข้าใจ และไม่ใช้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน รวมถึงดูแลคนในองค์กรให้ปลอดภัยจากเอดส์ และส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันกับผู้มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรภาครัฐต่างๆ สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 106 องค์กร
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล "องค์กรดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน" ระดับประเทศในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกคนเปิดใจยอมรับและให้โอกาสผู้มีเชื้อเอชไอวี ได้มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วม "สานพลังยุติการเลือกปฏิบัติ" ตามแนวคิด "Thailand Partnership for Zero Discrimination" และร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยเริ่มที่ตัวเรา ด้วยการ "เปิดใจ เข้าใจเอชไอวี เราอยู่ด้วยกันได้"
ด้านแพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งด้านนโยบายการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์ รวมถึงการดำเนินการในพื้นที่อย่างจริงจัง และยังเป็น 1 ใน 26 เมืองใหญ่จากทั่วโลก ที่ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในโครงการเร่งรัดยุติปัญหาเอดส์ ในระหว่างการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ณ กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2557 ทั้งนี้คณะกรรมการเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์กรุงเทพมหานคร ได้มีมติให้ดำเนินการโครงการ Bangkok Partnership for Zero Discrimination โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเลือกปฏิบัติในหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวีให้เป็นศูนย์ กำหนดให้ร้อยละ 80 ของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งผ่านการอบรมหรือเรียน E-learning เพื่อส่งเสริมการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติภายในปี 2563 นอกจากนี้ ได้มีการเร่งรัดให้นำมติจากคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการคุ้มครองสิทธิเรื่องการตรวจเลือดและผู้อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวีในสถานที่ทำงานและสถานศึกษาผ่านสำนักเขต ทั้ง 50 แห่งด้วย
ส่วนดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประเทศไทยกล่าวว่าจากเวทีโลก Global Partnership for action to eliminate all forms of HIV related Stigma and Discrimination ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตระหนักว่า การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่รวมกับเชื้อเอชไอวี ต่อประชากรกลุ่มเฉพาะ ประชากรหลัก ยังคงเป็นที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศทั่วโลกและเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเข้าถึงการป้องกันและการรักษาทำให้ส่งผลต่อการไม่บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ตามที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน สำหรับ Thailand Partnership for Zero Discrimination ขอให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง สานพลังมุ่งสู่การลดการเลือกปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ ในปี พ.ศ.2573 เริ่มต้นวันนี้ที่ประเทศไทย ที่พื้นที่ ที่หน่วยงานของท่าน พวกเราทุกภาคส่วนร่วมสานพลังมุ่งสู่การยุติการเลือกปฏิบัติไปด้วยกัน
ในขณะที่นางสุรัชวดี ไกรสรรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท มิลล์ค่อนสตีลจำกัด(มหาชน)ในฐานะองค์กรภาคเอกชนกล่าวว่าทางบริษัทก็ไม่ได้ใช้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเงื่อนไขในการรับพนักงานเข้าทำงาน ในใบสมัครงานจะไม่มีช่องให้ระบุว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ทางบริษัทจะมีการดูแลพนักงาน มีการประสานเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับพนักงานเรื่องเอดส์ การป้องกันตัวเองจากเอดส์ มีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเอดส์และเรื่องสุขภาพสอดแทรกลงไปในกิจกรรมในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันวาเลนไทน์ วันแรงงาน วันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดบอร์ดนิทรรศการ การแจ้งข้อมูลข่าวสารสุขภาพผ่านไลน์กรุ๊ปด้วย ถึงแม้จะรู้ว่าพนักงานบางคนติดเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่มีการตีตราเลือกปฏิบัติ ยังคงใช้ชีวิตในการทำงานร่วมกันได้เหมือนปกติทั่วไป ทั้งนี้ทางบริษัทมีแผนงานจะเข้าร่วมโครงการองค์กร"ดูแล ห่วงใย ใส่ใจป้องกันเอดส์ในที่ทำงาน"ในไตรมาสที่2ของปี62นี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมตามแนวคิด"สานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ"ต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมองว่าไม่ควรยกเรื่องนี้ให้เป็นภาระของภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวในฐานะที่เราเป็นภาคเอกชนน่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ง่ายกว่าและไวกว่า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit