เนื่องจากอัตราการป่วยเป็นโรคไตของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยผลสำรวจล่าสุดจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะ จำนวน 7 ล้านคน ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง ต้องรักษาโดยการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ ฟอกเลือดด้วยไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง และปลูกถ่ายไต จากสถิติของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย พบว่ามีการปลูกถ่ายไตในประเทศไทยอยู่ที่ 700 ราย ต่อปี แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอคิวรับการปลูกถ่ายไตอยู่ที่ 6000 ราย จากสถิติสะท้อนให้เห็นว่า แม้การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ตัวเลขผู้ป่วยที่จะมีโอกาสรับการปลูกถ่ายไตยังไม่เพียงพอ อาจเป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญหาความวิตกกังวลของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง
ทั้งนี้จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญในรูปแบบบูรณาการระหว่างองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน นำโดย โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และผู้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตกว่า 60 ราย พร้อมด้วยบริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) จัดทำโครงการแชร์เพื่อช่วย ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "ชีวิตใหม่หลังการปลูกถ่ายไต" เพื่อลดความวิตกกังวลทั้งของผู้ป่วยและญาติ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต ในมิติต่างๆ ซึ่งรูปแบบการดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมย่อย ประกอบด้วย
- เปิดเวทีสัมมนาในรูปแบบ Hybrid Event เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต กำหนดการจัดงานในวันที่ 4 ธันวาคม 2563 เวลา 10:00 - 11:30 น. เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมฟังเสวนาฯ ผ่านทางแฟนเพจ Facebook โรงพยาบาล สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ หรือ @Bhumirajnakarin และช่อง Youtube ชื่อ BHUMIRAJANAGARINDRA KIDNEY INSTITUTE HOSPITAL
- จัดทำ Digital Content: Knowledge & Experiences Sharing โดยได้รับเกียรติจากผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายไตมาร่วมบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ตลอดจนความรู้สึกต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการปลูกถ่ายไต ฯลฯ
โดยเวทีสัมมนาของโครงการแชร์เพื่อช่วยฯ ที่เตรียมจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคมนี้ ประกอบด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจ ครอบคลุมมิติต่างๆ เกี่ยวกับเบื้องหลังการปลูกถ่ายไตและชีวิตใหม่หลังการปลูกถ่ายไต อาทิ
- ขั้นตอนการประเมินและเตรียมผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การตรวจคัดกรองผู้บริจาคไตทั้ง 2 ลักษณะคือผู้บริจาคไตที่มีชีวิต (living donor) และผู้บริจาคที่เสียชีวิต (cadaveric donorหรือ diseased donor)
- แบ่งปันประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายไต
- ส่งเสริมผู้ที่อยู่ในภาวะไตวายเรื้อรังให้เข้าสู่กระบวนการปลูกถ่ายไต
นอกเหนือจากผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต โครงการแชร์เพื่อช่วยฯ ยังมุ่งหวังให้เกิดการส่งต่อกำลังใจ การแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ป่วยถึงผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกรับการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนภาพความเชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาโรคไตและแนวทางป้องกันแบบครบวงจรของโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่กลุ่มเสี่ยง ครอบครัวผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตลอดจนประชาชนทั่วไป