มูลนิธิศุภนิมิตฯ ลุยพื้นที่ฟื้นฟู เยียวยา หลังวิกฤต Covid-19 พร้อมปันโอกาส สร้างสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน

20 Oct 2020

World Vision Foundation of Thailand หรือ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมพันธกิจกับองค์กรศุภนิมิตสากล นำโดย ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย โดยนำความรู้จากศุภนิมิตสากล มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ ในประเทศไทย มุ่งตอบสนองและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ทั้งเด็กปฐมวัย เด็กในวัยเรียนและการพัฒนาทักษะชีวิตแก่เยาวชน รวมไปถึง การช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุนชนที่เด็ก ๆ อาศัยอยู่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งล่าสุดยังได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากการแพร่กระจายของโควิด-19 ในกลุ่มเด็กและครอบครัวยากไร้ที่ได้รับผลกระทบและเผชิญสภาวะยากลำบากในการดำเนินชีวิต จึงเริ่มดำเนินการแผนฟื้นฟูโควิด-19 หรือ Covid-19 Recovery Phase เพื่อให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตระยะยาว โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือผ่านโครงการ 'อุปการะเด็ก’ และขยายงานไปตามจังหวัดต่าง ๆ 42 จังหวัด ครอบคลุมทั่วไทย ซึ่งภายใต้โครงการอุปการะเด็ก มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเด็ก ๆ กว่าครึ่งแสนทั่วประเทศ และยังรวมไปถึงแนวตะเข็บชายแดนของประเทศไทย ผ่านโครงการอื่น ๆ รวม 76 โครงการ อาทิ โครงการอุปการะเด็ก โครงการอ่านออก เขียนได้ ทันใจ ประทับจิต ชีวิตมีคุณภาพ โครงการด้านปกป้องคุ้มครองเด็ก โครงการแหล่งอาหารเกษตรปลอดภัย มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม และผ่านโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ โดยการดำเนินงานครั้งนี้ ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ไปที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัด พื้นที่เกือบทั้งหมดมีสภาพเป็นเทือกเขาสูง มีประชากร 63,224 คน (ข้อมูล ณ พ.ศ.2561) โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนอยู่บนยอดดอยที่ห่างไกลการคมนาคม มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โรงเรียนที่อยู่ในแต่ละชุมชนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก คลาดแคลนปัจจัยต่าง ๆ ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ความยากจนของครอบครัว ความไม่พร้อมของสถานศึกษา ส่งผลให้เด็ก ๆ ในพื้นที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และเมื่อเด็กเติบโตขึ้นสู่วัยรุ่น บางส่วนเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อ และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งในเรื่องของยาเสพติด มีการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงความเปราะบางยากไร้ของครอบครัวและเด็ก แต่ยังมีพื้นที่ที่ยังรอคอยความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในการวางแผนดำเนินงานเป็นลำดับต่อไป และด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงพร้อมสานต่อความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาเด็ก ๆ และครอบครัวผู้ยากไร้เปราะบาง ในแผนการฟื้นฟู Covid-19 Recovery Phase ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลารวมกว่า 6 เดือน อีกด้วย

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ลุยพื้นที่ฟื้นฟู เยียวยา หลังวิกฤต Covid-19 พร้อมปันโอกาส สร้างสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน

ซึ่งในการดำเนินงานครั้งนี้ นำโดย ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มีพันธกิจหลักโดยการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางและยากไร้ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนทั้งระบบ ทั้งด้านการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ในเด็กนักเรียนระดับประถม ควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการพัฒนาต้นทุนชีวิตเยาวชนเชิงบวก และปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานใน 3 ตำบล 33 หมู่บ้าน เป็นวิถีชีวิตชุมชนชนบท ห่างไกลสังคม ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องปั่นไฟในการให้พลังงานไฟฟ้า หาของกินตามป่า ชุมชนส่วนใหญ่จะใช้การกักตุนอาหาร และหากินตามบริบท อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ การรักษาพยาบาลจะใช้ยาสมุนไพร และแผนปัจจุบันที่จำเป็น ไม่มีสถานพยาบาล/อนามัยในพื้นที่ การเดินทางยากลำบากโดยเฉพาะฤดูฝน ส่งผลให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนได้ ซึ่งในการช่วยเหลือครั้งนี้ทางมูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังได้เข้าไปมอบถุงยังชีพ นี่เป็นหนึ่งในการดำเนินงานการช่วยเหลือฟื้นฟูโควิด-19 อันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "ในการดำเนินงาน ของ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เรามุ่งเน้นดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนทั้งระบบ ทั้งด้านการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ในเด็กนักเรียนระดับประถม ควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการพัฒนาต้นทุนชีวิตเยาวชนเชิงบวก ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานใน 3 ตำบล 33 หมู่บ้าน ซึ่งเด็กที่เปราะบางยากไร้ที่สุด (MVC = Most Valuable Children) ของบ้านขุนตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นี้ ส่วนใหญ่คือเด็กด้อยโอกาสในการเรียนรู้ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน สภาพพื้นที่มีการเดินทางที่ยากลำบาก เป็นเด็กกำพร้า พิการ ป่วยเรื้อรัง ที่บ้านไม่มีห้องน้ำ ปัจจุบันมีเด็กที่เปราะบางยากไร้ (MVC) ที่อยู่ในโครงการอุปการะเด็ก จำนวน 55 คน ขณะที่ชุมชนได้รับการดูแลด้านการศึกษา ครูได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ ฝึกอบรม และอุปกรณ์ในการผลิตสื่อการเรียนการสอน ซึ่งในด้านความช่วยเหลือที่ยังต้องการ ยังพร้อมให้ส่งเสริม ด้านการพัฒนาเด็กเล็ก (ปฐมวัย) เนื่องจากเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ทำให้เด็กขาดการเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียน เด็กเรียนรู้ช้า และไม่สนใจการเรียน อีกทั้ง ในด้านแหล่งอาหารในชุมชน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ เป็นบริเวณห่างไกล การจัดเตรียมอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามบริบทของครอบครัว ทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับครอบครัวยากจน ส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ช้า ร่างกายไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ในด้านสุขภาพ จึงเป็นการบริการด้านสาธารณสุขที่เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาเด็กในด้านต่าง ๆ รวมถึงครอบครัวของเด็ก ที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องของความมั่นคง ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป"

ซึ่งในพื้นที่ ยังมี 'เด็กหญิงปิยะพร’ วัย 6 ปี ที่มีความพิการด้านร่างกาย ตั้งแต่อายุ 8 เดือน หลังจากถูกไฟคลอกบริเวณมือขวาและใบหน้า ขณะที่คุณยายเผลอไม่ทันระวัง ซึ่งบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นลึกและอันตราย แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดมือขวาของน้องเพื่อทำการรักษาอาการ ทำให้ปัจจุบันบาดแผลจากการตัดมือรักษาไม่ได้ และต้องรอผู้บริจาคพิจารณาบริจาคมือเทียม โดยปัจจุบันน้องปิยะพรได้อาศัยอยู่กับคุณยายและคุณน้า ซึ่งทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยได้ให้เข้าไปช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าโครงการอุปการะเด็ก เมื่อช่วงต้นปี 2563 นอกเหนือจากความช่วยเหลือในด้านนี้แล้ว ยังได้การสนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นทางการศึกษา ได้ให้เงินช่วยเหลือพิเศษกับครอบครัวของน้อง จำนวน 5,000 บาท ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ข่าวของน้องจะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปทางสื่อสังคมออนไลน์

อีกทั้ง ในบริเวณใกล้เคียง ยังได้เข้าช่วยเหลือเยียวยา 'เด็กหญิงชญานิศ’ วัย 12 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่กับคุณยาย พี่ชายและพี่สาว ถือเป็นครอบครัวเปราะบางที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งยายเป็นผู้ที่มีรายได้หลักคนเดียวของครอบครัว มีอาชีพรับจ้างรายวัน ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ขณะที่น้องมีโรคประจำตัว ด้วยอาการป่วยไตเรื้อรัง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทุก 3 เดือน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวค่อนข้างสูง สภาพบ้านที่น้องพักอาศัยไม่แข็งแรง ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในครัวเรือน นอกจากนี้ บ้านของน้องไม่มีห้องน้ำเป็นของตัวเอง ต้องไปอาศัยใช้ห้องน้ำกับเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดยโครงการพัฒนาชุมชน จึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการสร้างห้องน้ำให้กับครอบครัวต่อไป

ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เด็กเปราะบางยากไร้ที่อยู่ในโครงการฯ ได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยให้เป็นไปตามเกณฑ์ โดยชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง ทางมูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังสนับสนุนด้านเศรษฐกิจของครัวเรือน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยแผนการดำเนินของทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในวาระต่อไป ยังคงมุ่งเน้น การช่วยเหลือด้านพัฒนาการทางร่างกาย ให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ ผ่านโครงการ 'มื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม’ และพัฒนาแหล่งอาหารในชุมชน รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่ในการเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัยก่อนวัยเรียน (ศพด.) เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมกัน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทชุมชนได้อย่างมีเป้าหมาย รวมไปถึง การดูแลด้านสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะการปฐมพยาบาล ด้วยการสนับสนุนห้องยา ห้องปฐมพยาบาล ที่เด็กและคนในชุมชนสามารถเข้าถึงได้เวลาเจ็บป่วย และเจ็บป่วยฉุกเฉิน การสนับสนุนการก่อสร้างสถานพยาบาลในชุมชนที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยไข้ให้รอดจากการได้รับการรักษาพยาบาลได้ การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้เด็กและคนในชุมชนสามารถเข้าถึงและมีแหล่งที่สะอาดในการอุปโภคบริโภคทุกครัวเรือน อีกทั้ง ในส่วนของ การจัดการสุขาภิบาลชุมชนพื้นที่สูง ให้มีความสะอาดเรียบร้อยต่อคนในสังคมร่วมกัน เช่น การจัดการขยะ ท่อปฏิกูล สุขาที่ถูกสุขลักษณะ และการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังมุ่ง สร้าง/พัฒนาสุขาให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยสำหรับเด็ก (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) มีการจัดการท่อปฏิกูลที่ดีถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลชุมชนต่อไป

ร่วมบริจาคช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา อุปการะเด็กเปราะบาง ยากไร้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทรศัพท์ 02-022-9200 ถึง 2 หรือ อีเมล [email protected] LINE: @worldvision-thai และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.worldvision.or.th

HTML::image( HTML::image(