ผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากสงครามและความรุนแรงมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก บางส่วนกำลังถือศีลอดในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นมักเป็นประชากรที่ขาดแคลนและเปราะบางมากที่สุดในสังคมซึ่งมีความเสี่ยงสูงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ เช่นเดียวกันกับชุมชนที่ให้ที่พักพิง พวกเขามักมีการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาลและสาธารณสุขที่จำกัด ขาดแคลนทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการดำรงชีพ หลายคนจะต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนโดยปราศจากอาหารบนโต๊ะหลังการอดอาหารและน้ำมาแล้วในแต่ละวัน
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังคงสานต่อความร่วมมือกับสำนักจุฬาราชมนตรีและสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้อง” เพื่อระดมทุนส่งต่อความช่วยเหลือนี้แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมที่ไม่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในประเทศของตน การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันพวกเขาจากความยากแค้นที่ทวีคูณท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19
“ในเวลาที่ผู้คนทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อย่างยากลำบาก เชื้อไวรัสยังคงแพร่กระจายโดยไม่เลือกกลุ่มคน ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่มากกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในพื้นที่หนาแน่นหรือมีระบบสาธารณสุขและสุขาภิบาลที่ไม่ถึงขั้นมาตรฐาน ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดและสมควรได้รวมอยู่ในแผนงานระดับประเทศด้านการเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อม และการรับมือในสถานการณ์โลกเช่นนี้ด้วย” นายจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว
“รอมฎอนจากเดือนที่เคยมีความสุขที่สุดกับครอบครัว ชีวิตผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมยังคงเผชิญกับความยากลำบากและความขาดแคลนในหลายๆ ด้าน และปีนี้ศาสนกิจต่างๆ ที่เคยถือปฏิบัติมาเนิ่นนานในช่วงเดือนรอมฎอนมีความจำเป็นต้องปรับตามมาตรการเพื่อรักษาสาธารณสุขในพื้นที่ แต่รอมฎอนยังคงเป็นเดือนแห่งการแบ่งปัน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราสู้อยู่ในวิกฤตเดียวกัน และผมเชื่อว่าความเมตตาและความหวังซึ่งเป็นแก่นแท้ของการถือศีลอดจะพาเราต่อสู้กับเชื้อไวรัสไปด้วยกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว”
โครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้อง” ยังเปิดรับบริจาคซะกาตหรือทานประจำปี ซึ่งเป็นการบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก 8 ประการ และ UNHCR ได้รับการรับรองจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) ระดับโลก เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือเพิ่มเติมแด่พี่น้องผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่เผชิญความยากลำบากจากวิกฤติโควิด-19
“เดือนแห่งความศักดิ์สิทธ์ปีนี้ เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายเราอย่างมาก วิกฤตผู้ลี้ภัยยังคงสูงที่สุดในประวัติการณ์ ผู้คนมากกว่า 70 ล้านคนถูกบังคับให้ออกจากบ้านและส่วนใหญ่คือพี่น้องชาวมุสลิมของเราที่เป็นเด็กและผู้หญิง พวกเขาไม่สามารถเฉลิมฉลองเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ที่บ้านและประเทศของตน และการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเปราะบางมากขึ้นไปอีก” นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าว
“ปีนี้เราร่วมมือกับ UNHCR อีกครั้ง เพื่อเปิดรับการบริจาคในเดือนแห่งการให้และรับบริจาคทานประจำปีซะกาตเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่กำลังตกทุกข์ได้ยากและต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัสในขณะนี้ การช่วยเหลือพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอมฎอนจะฝึกให้เราเป็นผู้ให้ และเราจะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺหลายเท่าทวีคูณ”
โครงการระดับโลก “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้อง” ได้รับความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนอย่างดีตั้งแต่พ.ศ. 2561 และได้ช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมทั่วโลกไปมากกว่า 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้อง ปีที่ 3 นี้ มุ่งระดมทุนเพื่อจัดหาความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น ที่พักพิง อาหาร น้ำสะอาด และเงินช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เปราะบาง ซึ่งรวมถึง เด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยวและหญิงหม้าย ผู้สูงอายุในประเทศซีเรีย เยเมน อิรัก รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศ
สำนักจุฬาราชมนตรี และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้สนับสนุนการทำงานของ UNHCR ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในฐานะองค์กรภาคีเพื่อมนุษยธรรม โครงการนี้จะช่วยมอบงบประมาณให้ UNHCR สามารถดำเนินงานให้ความคุ้มครองที่ทำอยู่เดิมได้ พร้อมให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมในการตั้งรับต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย UNHCR จะนำเงินบริจาคทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เปราะบางต่อไป และทานซะกาตจะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับภายใต้การดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่การบริจาคจนถึงการให้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและบริจาคได้ที่ https://www.unhcr.or.th/donate/ramadan
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit