ตลาดการเงินโลกผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นกลัวให้นักลงทุน ในระดับใกล้เคียงกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 จนหลายประเทศต้องออกมาตรการพิเศษ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และประคับประคองเศรษฐกิจ
ดร.แซมมี่ ชาร์ Chief Economist จาก Lombard Odier Geneva มองว่าหนทางที่วิกฤตโรคโควิด-19 จะดำเนินและจุดจบนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี
กรณีฐาน (Base case)
- การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกสามารถควบคุมได้ภายในครึ่งปีแรกของปี จากมาตรการกักกันตัวที่ทั่วโลกบังคับใช้อยู่ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง 2020 และคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ (Pre-COVID19) ได้ภายในสิ้นปี 2021
- ด้าน มร. โฮมิน ลี Asia Macro Strategist, Head of Portfolio Solutions, Asia, Lombard Odier ยกจีนเป็นกรณีศึกษาในเรื่องความสามารถการควบคุมการแพร่ระบาด และการกลับมาเปิดเศรษฐกิจผลักดันให้กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาอย่างรวดเร็ว
- ล่าสุดมาตรการกักกันตัวเริ่มเห็นผลดี โดยในยุโรป และสหรัฐฯ อัตราการแพร่ระบาดเริ่มชะลอลง จนบางประเทศเริ่มมองหากำหนดการที่จะกลับมาเปิดประเทศตนเองอีกครั้ง
- มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จากทั้งรัฐบาล และธนาคารกลางทั่วโลกจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อหลาย ๆ ประเทศกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง
- รัฐบาลหลายประเทศจะต้องเผชิญกับงบประมาณขาดดุล และระดับหนี้ภาครัฐฯ ที่สูงขึ้น แต่ทุกประเทศรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ และเมื่อสถานการณ์ดูดีขึ้น รัฐบาลต่าง ๆ จะสามารถลดงบประมาณขาดดุลลงดังที่เคยเกิดขึ้น 10 ปีหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
กรณีเลวร้าย (Worst case)
- การแพร่ระบาดไม่สามารถควบคุมได้ จนเกิดการแพร่ระบาดกลับมาในเอเชียระลอก 2 ส่งผลให้มาตรการกักกันตัว และปิดเมืองดำเนินต่อเนื่อง กิจกรรมทางธุรกิจยังอ่อนแรง ไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้
- แทนที่จะเป็นภาวะช็อคเพียงชั่วคราวตามกรณีฐาน เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะถดถอยระยะยาว
ด้าน นางสาว ศิริพร สุวรรณการ Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ให้คำแนะนำในการจัดสรรพอร์ตการลงทุนจากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง KBank Private Banking ได้ปรับคำแนะนำในพอร์ต K-Alpha ให้อยู่ในโหมดระมัดระวัง มาตั้งแต่ปี 2019 ที่ราคาสินทรัพย์พุ่งขึ้นภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงท้ายวัฏจักรของการเติบโตหรือ Late cycle โดยแบ่งเป็น
- พอร์ตหลัก หรือ CORE ที่มีกลไกกระจายความเสี่ยงอย่างดี ด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบ Risk-based Allocation ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ความเสี่ยงในสินทรัพย์เสี่ยงพุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้พอร์ตหลักลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หันมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ รวมทั้งลดอัตราทด หรือ Leverage ลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลขาดทุนน้อยกว่าพอร์ตการลงทุนแบบดั้งเดิม
- พอร์ตเสริม หรือ Satellites ที่ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น เพิ่มทองคำ รวมทั้งเพิ่มการถือสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสดจำนวนหนึ่ง คือประมาณ 5-11% แล้วแต่ประเภทความเสี่ยงของพอร์ต ปัจจุบันเราเลือกลงทุน
- เฉพาะหุ้น จีน A Share ที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง
- หุ้นในธุรกิจ Megatrend เช่น เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ พลังงานแห่งอนาคต และการจัดการคุณภาพดินและน้ำ เป็นต้น
- REITs หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่กระจายความเสี่ยงในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
- ตราสารหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯของผู้ออกที่ในภูมิภาคเอเชีย
- สินทรัพย์ที่เน้นให้ผลตอบแทนไม่สอดคล้องกับตลาด (Uncorrelated) อย่างทองคำ รวมถึงกลยุทธ์ Long/Short ตราสารหนี้ และอัตราแลกเปลี่ยน