กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการศิลปินร่วมสมัยสู้ภัยโควิด ด้วยจิตสำนึก สาขาดนตรี ดึง 5 องค์กรดนตรีชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด สมาคมเฟโรซีฟิลฮาร์โมนิค สมาคมครูดนตรี และวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิก-แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักดนตรีกว่า 170 ชีวิต ร่วมร้องบรรเลง บทเพลงในรูปแบบเฉพาะของแต่ละองค์กร สร้างพลัง เป็นกำลังใจ ให้คนไทยทุกคน ก้าวข้ามอปุสรรคจากวิกฤต โควิด 19 (COVID-19)
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเยียวยาและสร้างพลังใจให้แก่ศิลปินร่วมสมัย สาขาดนตรี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 จึงได้ขับเคลื่อน ร่วมกับองค์กร ด้านดนตรีชั้นนำ ให้ศิลปินในสังกัดขององค์กร ทั้ง 5 แห่ง สร้างสรรค์บทเพลง มอบเป็นกำลังใจให้แก่คนไทยทุกคน กล่าวได้ว่า เป็นโครงการที่ส่งกำลังใจให้กันและกัน โดยสร้างงานให้นักดนตรี ได้มีรายได้ ขณะเดียวกันศิลปินก็ได้นำความสามารถของตน ถ่ายทอดบทเพลง ส่งเป็นกำลังใจกับผู้คน”
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะองค์กรหลักที่ดำเนินโครงการ เพิ่มเติมว่า “เป็นการทำงาน บูรณาการร่วมกันระหว่างถาบันดนตรีชั้นนำของประเทศ อาทิ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับศิลปินศิลปาธร อาจารย์ดนตรี องค์กร สถาบันด้านดนตรี นักดนตรีอิสระ และสถาบันการศึกษา มาร่วมกันผลิตผลงานด้านดนตรี เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลงร่วมสมัย"
“โครงการศิลปินร่วมสมัยสู้ภัยโควิดฯ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและพลังของความคิดสร้างสรรค์ และส่งเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคน ก้าวผ่าน อุปสรรค ผ่านเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ รู้สึก เป็นเกียรติที่ได้เป็นสะพานเชื่อมความสามัคคี สะท้อนภาพที่ดีของสังคมไทย ซึ่งไม่เคยทิ้งกันในยามทุกข์ยาก เป็นสิ่งที่นานาชาติ ให้การชื่นชม”
สำหรับ บทเพลงของทั้ง 5 องค์กร สร้างสรรค์โดยศิลปินในสังกัด ได้แก่ เพลง ส่งใจไป กอดเธอ, เพลงไม่ทิ้งกัน, เพลงหัวใจเพชร, เพลงสายลม และเพลงแด่เธอผู้คุ้มภัย ถ่ายทอดผ่านศิลปิน อาทิ หัสวินทร์ ประยูรพิทักษ์, สุดา ชื่นบาน, กำธร ศรวิจิตร ผลงานเพลงทั้งหมด จะเผยแพร่ในรูปแบบของคลิปวีดีโอ สู่สาธารณชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป